เหตุการณ์น้ำมันรั่วจัดเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของระบบนิเวศทางทะเล การรั่วไหลของน้ำมันเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุทางท่อขนส่ง หรือการลักลอบทิ้งน้ำมันโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งน้ำมันส่วนใหญ่ที่รั่วไหลนั่นคือ น้ำมันดิบ และน้ำมันเตา

โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่ว น้ำมันเหล่านั้นจะถูกย่อยสลายด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น การระเหย การกระจายตัวของน้ำมันในน้ำ  และการย่อยสลายทางชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ส่งผลให้องค์ประกอบของน้ำมันมีสัดส่วนลดลง และส่งผลให้ลักษณะการกระจายตัวขององค์ประกอบในน้ำมันดิบ และน้ำมันเตามีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งยากต่อการระบุประเภทของน้ำมันที่รั่วไหล

ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์ในการศึกษาการกระจายตัวของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน และหาดัชนีของตัวบ่งชี้เอกลักษณ์น้ำมันจากกลุ่มสารประกอบโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน และ ไบโอมาร์เกอร์กลุ่มโฮปเพน เพื่อทำการบ่งชี้ประเภทของน้ำมันที่รั่วไหล โดยงานวิจัยนี้ทำการทดสอบด้วยน้ำมันดิบ 5 ชนิด และน้ำมันเตา 4 ชนิดจากกระบวนการที่แตกต่างกัน

โดยทำการจำลองเหตุการณ์น้ำมันรั่วลงในน้ำทะเลและเก็บตัวอย่างในวันที่ 0, วันที่ 7 และวันที่ 60 น้ำมันทุกตัวอย่างถูกวิเคราะห์โดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโตกราฟฟี-แมสสเปกโตรมิทรีแบบ 2 มิติ และวัดปริมาณโลหะอะลูมิเนียม ด้วยเครื่องวัดเสปกตรัมแสงในช่วงความยาวคลื่นที่มองเห็น (ICP-OES)

จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีการทาง NORDTEST รวมกับการวิเคราะห์องค์ประกอบด้วยเทคนิควิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (PCA) ผลงานวิจัยนี้จะนำไปประยุกต์ใช้ในการสืบหาแหล่งที่มาของน้ำมันรั่ว หรือก้อนน้ำมันดินที่พบตามบริเวณชายฝั่ง ร่วมกับการสังเกตการณ์ทางทะเล

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th