ผงยางรถยนต์เก่านำไปดัดแปรโครงสร้างทางเคมีให้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุดักจับก๊าซที่เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน พร้อมรีไซเคิลขยะยางล้อที่หมดสภาพการใช้งานแล้ว
ยางรถยนต์หมุนพาเราไปทุกที่ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปทุกหนแห่ง หลังจากที่หมด สภาพก็ถูกทิ้งเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไม่อีกต่อไป เพราะยางเก่าจะถูกแปรรูปให้เป็นผง แล้วนำไปดัดแปรเสริมรูพรุนให้พร้อมดูดซับก๊าซ รวมทั้งนำไปผ่านกระบวนการทำปฏิกิริยากับเททระเอทิลีนเพนทามีนและพอลิเอทิลีนอิมีน เพื่อเชื่อมหมู่เอมีน ซึ่งเป็นหมู่ทางเคมีที่สามารถจับกับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ก่อนจะได้วัสดุดูดซับที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างดีเยี่ยม เอาไว้ใช้งานแทนวัสดุดูดซับตัวอื่น อย่างผงถ่านกัมมันต์ที่จับกับคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ดีเท่าไรนัก รวมถึงซีโอไลต์และซิลิกา ซึ่งทำงานได้ไม่ดีในสภาวะชื้นแฉะ งานนี้จึงเพิ่มแนวทางรีไซเคิลขยะยางล้อใช้แล้ว เพื่อนำไปใช้ใหม่เป็นวัสดุที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน เหมือนเราได้หมุนล้อออกเดินทางอีกครั้งตามรอยธรรมชาติสู่ความยั่งยืน
ผลงานโดย คุณณภัสร์จิรา จารี ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe