เปลี่ยนก๊าซมีเทนให้เป็นสารอีเทนและเอทิลีนด้วยตัวเร่งปฏิกิริยา เพิ่มมูลค่าสารธรรมดาเอาไปผลิตสารปิโตรเคมีราคาแพง แถมช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนเพราะจริงอยู่มีเทนเป็นก๊าซธรรมชาติที่พบได้ทั้งบนดินและใต้ดิน แหล่งน้ำ ในอากาศ รวมทั้งจากกระบวนการหมักซากพืชซากสัตว์ โดยสามารถนำไปใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ได้ ทว่าหากกระจายเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไปก็อาจดูดกลืนและสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์จนโลกร้อนขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง นักวิจัยจึงสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดใหม่ ที่เตรียมจากโลหะออกไซด์หลายชนิดผสมกันบนตัวรองรับซิลิกา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งปฏิกิริยา ซึ่งพบว่าสามารถนำไปใช้เร่งให้มีเทนทำปฏิกิริยาควบคู่กับออกซิเจนกลายเป็นอีเทนและเอทิลีนได้ดี จึงมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้ อีเทนและเอทิลีน ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นนั้นสามารถนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น เอทิลีนไกลคอล เอทิลแอลกอฮอล์ ไปจนถึงพลาสติกพอลิเอทิลีนที่ใช้ผลิตเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
ผลงานโดย คุณวรพินิต ติยะธะ ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ สืบสาย ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe