บำบัดน้ำเสียที่ปนเปื้อนโลหะหนักด้วยวิธีตกตะกอน โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์สำหรับอุปกรณ์ควบคุมในถังบำบัด ที่ช่วยรักษาค่าพีเอชและระดับน้ำ ให้กระบวนการมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ในการบำบัดน้ำเสียโดยการกำจัดโลหะหนักด้วยวิธีตกตะกอน ต้องมีการควบคุมค่าพีเอชของน้ำเพื่อให้กระบวนการมีประสิทธิภาพ เพราะธาตุโลหะแต่ละชนิดนั้นตกตะกอนได้ที่ค่าพีเอชแตกต่างกัน นอกจากนั้น น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วก็ต้องมีพีเอชใกล้เคียงกับสภาพเป็นกลางที่ค่าประมาณ 7 – 8 ทว่ามีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดและความเข้มข้นของสาร ปฏิกิริยาเคมีอันซับซ้อน อัตราการไหลของน้ำในถังบำบัด ฯลฯ ที่คอยรบกวนในกระบวนการ แม้กระทั่งการทำงานที่ผิดพลาดของอุปกรณ์ก็อาจทำให้การควบคุมค่าพีเอชในถังบำบัดเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้การกำจัดโลหะหนักทำได้ไม่เต็มที่ อุปกรณ์ควบคุมมีหน้าที่วัดและป้อนข้อมูลกลับ เพื่อให้ระบบทำงานได้ตามค่าที่ถูกตั้งเอาไว้ ส่วนใหญ่ใช้ระบบที่เรียกว่าพีไอดี แต่ในงานวิจัยใหม่นี้ มีการใช้แบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมร่วมด้วยในการประมวลข้อมูล ทำให้สามารถควบคุมทั้งค่าพีเอชและระดับน้ำในถังบำบัดได้ดี โดยค่าพีเอชจะถูกควบคุมจากอัตราการไหลของสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง ส่วนระดับน้ำจะถูกควบคุมจากอัตราการปล่อยของน้ำที่ผ่านการบำบัดเรียบร้อยแล้ว จนสุดท้ายเหลือไว้เพียงแค่น้ำสะอาด ที่ปราศจากโลหะหนักและรักสิ่งแวดล้อม
ผลงานโดย คุณสิริกาญจน์ อึ๊งศรีวงษ์ ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ชนินทร์ ปัญจพรผล ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th