กำจัดสีย้อมด้วยคาร์บอนจากผักตบชวา ซึ่งสามารถดูดซับสีในน้ำเสียจนได้น้ำสะอาด ช่วยจัดการกับปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม ให้โลกกลับมาสดใสไม่ขุ่นมัว ตัวดูดซับคาร์บอนที่ว่านี้แปรรูปได้จากชีวมวลในธรรมชาติอย่างผักตบชวา เป็นวัสดุที่เรียกว่า มีโซพอรัส-คาร์บอน ซึ่งมีรูพรุนขนาดเล็กในช่วง 2 – 50 นาโนเมตร จึงมีพื้นที่ผิวสูงมากและดูดซับสารต่าง ๆ ได้ดี โดยวัสดุนี้ยังได้รับการปรับปรุงพื้นผิวด้วยสารประกอบไนโตรเจนเพื่อให้สามารถจับกับสีย้อมได้ดียิ่งขึ้น ในการศึกษาความสามารถของคาร์บอนรูพรุนระดับมีโซพอร์ที่เจือด้วยไนโตรเจน นักวิจัยกำลังทดลองนำวัสดุดังกล่าวไปดูดซับสีย้อมสังเคราะห์ เช่น เมทิลลีนบลู โรดามีนบี และมาราไคต์กรีน ในระบบบำบัดน้ำเสียแบบต่อเนื่อง
ทั้งนี้ก็เพื่อปรับเปลี่ยนตัวแปร อันได้แก่ อัตราการไหลของน้ำ ความเข้มข้นเริ่มต้นของสี ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดการปนเปื้อนของสีย้อมซึ่งเป็นมลพิษในน้ำ แม้ว่าน้ำจะเสียแค่ไหนก็ต้องกลับมาใสได้ดังเดิม
ผลงานโดย คุณดิลก สะแสงตา ทีมวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุศรินทร์ เฆษะปะบุตร ภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe