พลังงานไฮโดรเจนกำลังถูกจับตาในปัจจุบัน สวนกระแสการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อันก่อให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม รวมถึงตัวการโลกร้อนอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ ทีมวิจัยรองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ เรียบร้อยเจริญ สนใจการสร้างก๊าซไฮโดรเจนจากกระบวนการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของชีวมวลด้วยไอน้ำโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งผลิตไฮโดรเจนได้ในปริมาณมากกว่าแบบไม่ใช้ตัวเร่ง จึงได้เตรียมวัสดุรองรับร่วมกับตัวเร่งปฏิกิริยา สำหรับวัสดุรองรับได้สังเคราะห์เส้นใยซิลิกานาโนคาร์บอนด้วยวิธีโซล-เจลและการปั่นเป็นเส้นใย ทำให้อนุภาคของวัสดุมีขนาดเล็ก ส่งเสริมให้ตัวเร่งกระจายตัวได้ดี ทั้งยังช่วยลดการเสื่อมสภาพของตัวเร่งได้ จากนั้นได้นำวัสดุรองรับไปจุ่มชุบกับนิกเกิล-โคบอลต์ที่ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา โดยได้ศึกษาปัจจัย เช่น ปริมาณของตัวเร่งบนวัสดุรองรับ อุณหภูมิของปฏิกิริยา และอัตราส่วนที่เหมาะสมในการเกิดปฏิกิริยา เพื่อพัฒนาวัสดุที่สามารถสร้างก๊าซไฮโดรเจน สำหรับใช้เป็นพลังงานสะอาด
ตัวเร่งปฏิกิริยาซิลิกานาโนคาร์บอนสำหรับใช้ผลิตไฮโดรเจนทดแทนชีวมวล เป็นผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ เรียบร้อยเจริญ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาฯ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 หรือ www.petromat.org , Facebook: petromat.coe