การใช้พลังงานชีวมวลมีข้อดีเหนือเชื้อเพลิงปิโตรเลียม เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยจากการเผาไหม้พลังงานจะถูกดูดซับกลับด้วยพืชชีวมวล เช่น กระถินยักษ์ หรือยูคาลิปตัส ซึ่งช่วยลดการเกิดสภาวะโลกร้อน ทั้งยังลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความผันผวนของราคาน้ำมันปิโตรเลียม ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ จึงได้ศึกษาการสังเคราะห์เชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวลในเครื่องปฏิกรณ์ต้นแบบด้วยกระบวนการทางเคมีสองขั้นตอน ในขั้นแรกชีวมวลถูกเปลี่ยนเป็นก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จากนั้นในขั้นถัดมาก๊าซทั้งสองถูกเปลี่ยนเป็นดีเซล แนฟทา เคโรซีน รวมทั้งผลิตภัณฑ์เคมีอื่น ๆ โดยในขั้นนี้ต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกลร่วมด้วย นอกจากนั้นทีมวิจัยยังได้ทดสอบสภาวะที่เหมาะสมทั้งอุณหภูมิ ความดัน อัตราการป้อนก๊าซ และระยะเวลาในการเกิดปฏิกิริยาเคมี เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มร้อยละผลได้ของกระบวนการผลิตให้มากที่สุด

การสังเคราะห์เชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวลในเครื่องปฏิกรณ์ต้นแบบ วิจัยและพัฒนาโดยศาสตราจารย์ ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาฯ ผ่านทางเว็บไซต์ www.petromat.org หรือ โทร 0-2218-4141 ถึง 2

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th