หากจะพูดว่าสติปัญญาของคนขึ้นอยู่กับคุณภาพของเซลล์สมองกว่าแสนล้านเซลล์ พลาสติกก็ไม่ต่างกัน เพราะสมบัติและความสามารถในการนำไปใช้งานขึ้นอยู่กับโครงสร้างระดับจุลภาคของพลาสติก ทั้งการกระจายตัวของน้ำหนักโมเลกุลและการกระจายตัวขององค์ประกอบทางเคมี มองในมุมกลับ หากเราสามารถควบคุมสภาวะของการเกิดโครงสร้างทางจุลภาคในกระบวนการสังเคราะห์พลาสติก ก็จะผลิตพลาสติกที่มีสมบัติตามต้องการได้ แต่การทดลองหาสภาวะที่เหมาะสมในการสังเคราะห์พลาสติก ซึ่งมีโครงสร้างจุลภาคตามแบบที่เราต้องการ ก็วุ่นวายไปหน่อยกว่าที่แรงงานคนจะทำไหว ทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในโรงงานอุตสาหกรรม และในเมื่อสมองมนุษย์ยุ่งเกินกว่าที่จะคิดเรื่องนี้ ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอจึงเข้ามาคิดให้

ตัวอย่างเช่น การใช้เอไอเพื่อช่วยหาสภาวะที่เหมาะสมในการสังเคราะห์พอลิเมอร์ร่วมเอทิลีน/บิวทีน โดยระบบจะถูกฝึกฝนให้สามารถสร้างผลลัพธ์ที่คล้ายกับโครงสร้างเป้าหมายในสภาวะต่าง ๆ และระบบจะต้องสามารถแยกแยะได้ด้วยว่าผลลัพธ์ที่ถูกสร้างขึ้นมีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้แล้วหรือไม่ หากไม่ใช่ ผลลัพธ์ที่ถูกสร้างขึ้นก็ต้องถูกป้อนกลับเพื่อให้ระบบสร้างผลลัพธ์ขึ้นมาใหม่ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำเหมือนกับโครงสร้างเป้าหมายมากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมในการสังเคราะห์พอลิเมอร์ร่วมเอทิลีน/บิวทีน ซึ่งมีโครงสร้างทางจุลภาคและสมบัติตามที่เราต้องการ

งานวิจัยชิ้นนี้กำลังได้รับการพัฒนาโดยคุณอรทัย อำนวยกิจวณิชย์ ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.สิริพล อนันตวรสกุล ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th