เช็กระยะการเดินทางสู่ “Net Zero Emissions” ของประเทศไทย

เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล

บทสัมภาษณ์ คุณณัฐวดี เสริมสุข เจ้าหน้าที่ประสานงานพัฒนาความยั่งยืน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT)

 

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา จากการประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ตั้งแต่ ปี 2000 จนถึง ปี 2019 ที่รายงานโดย Germanwatch เมื่อปี 2021 โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกทั้งที่เราปล่อยก๊าซเรือน กระจกน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เชื่อว่าผู้อ่านได้ประจักษ์ถึงผลกระทบด้วยตนเองแล้วว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีอากาศร้อนผิดปรกติ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล พอตกก็จะหนัก ลมพายุรุนแรง เกิดอุทกภัย ดินโคลนถล่ม เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง และยังสงผลต่อเนื่องถึง เศรษฐกิจของประเทศจากการที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมย์ที่จะบรรลุเป้า “Carbon Neutrality” ภายในปี 2050 และ บรรลุเป้า “Net Zero Emissions” ภายในปี 2065 ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ส่งผลให้ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทั้งการอบรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การรับรองฉลากคาร์บอน ภาษีคาร์บอน รวมถึงความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในองค์กรอย่างจริงจัง มีส่วนให้ประเทศไทยมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา PETROMAT ได้ให้ความสำคัญเรื่อง “Carbon Neutrality” และ “Net Zero Emissions” เป็นอย่างมากเช่นกัน โดยได้ตั้งทีมให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนนำโดยคุณวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม และคุณนุสรา จริยะสกุลโรจน์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยชำนาญการ เพื่อดำเนินการด้านนี้โดยตรงร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน และหนึ่งในกำลังสำคัญของทีมให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนนี้ คือ คุณณัฐวดี เสริมสุข เจ้าหน้าที่ประสานงานพัฒนาความยั่งยืน ซึ่งได้มาแชร์ประสบการณ์การทำงาน ในคอลัมน์ The Story ของ PETROMAT Today Online ครั้งนี้

PETROMAT: ก่อนอื่นอยากให้คุณณัฐวดีช่วยแนะนำตัวเองสั้นๆ ว่าเป็นมาอย่างไรถึงได้มาทำงานที่ PETROMAT

คุณณัฐวดี: ดิฉันจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับด้านพอลิเมอร์ ทำให้สนใจในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาพอลิเมอร์ของวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างศึกษาอยู่ ดิฉันได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก PETROMAT ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้รู้จักกับ PETROMAT หลังจากนั้น ดิฉันสนใจที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับอุตสาหกรรมจริงได้ จึงมองหางานที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ด้านวิชาการเข้ากับการขับเคลื่อนจริงในภาคอุตสาหกรรม และ PETROMAT ก็ตอบโจทย์ตรงนั้น เพราะเป็นองค์กรที่เชื่อมต่อการวิจัยกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในเชิงเศรษฐกิจ

PETROMAT: บทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประสานงานพัฒนาความยั่งยืนต้องทำอะไรบ้างครับ

คุณณัฐวดี: บทบาทหลักคือเป็น “ตัวกลาง” ระหว่างนักวิจัย ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐ เพื่อผลักดันโครงการด้านความยั่งยืน เช่น การจัดการของเสีย การวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งานประสานงานอาจฟังดูเบา แต่จริงๆ ต้องใช้ทั้งทักษะทางเทคนิค การสื่อสาร และการบริหารโครงการควบคู่กัน

PETROMAT: เข้าสู่วงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างไร

คุณณัฐวดี: จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่วงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มาจากการที่ดิฉันทำงานด้านความยั่งยืนอยู่ที่ PETROMAT ซึ่งมีทีมงานที่ดูแลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรอยู่แล้ว ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดนี้ แม้ในช่วงที่ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยยังไม่มีหลักสูตรเฉพาะทางเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เมื่อได้เริ่มศึกษาและเห็นความสำคัญของประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ก็เกิดความสนใจที่จะศึกษาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ต่อมาดิฉันได้รับโอกาสเข้าร่วม “โครงการพัฒนาผู้ประเมินภายนอกเพื่อสนับสนุนระบบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยได้เรียนรู้ทั้งในหลักสูตรการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) และการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เชิงลึก (Carbon Footprint of Product: CFP)

นอกจากภาคทฤษฎีแล้ว ยังได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติกับกรณีศึกษาในภาคอุตสาหกรรมจริง ซึ่งช่วยให้เข้าใจภาพรวมของระบบการประเมินได้อย่างชัดเจนและเห็นความท้าทายในเชิงปฏิบัติ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ดิฉันตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการนี้อย่างจริงจัง และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

PETROMAT: ช่วยเล่าถึงการขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาและผู้ทวนสอบด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

คุณณัฐวดี: ต้องเรียนว่า การขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาและผู้ทวนสอบด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์นั้น ไม่ใช่แค่การผ่านการอบรมตามเกณฑ์ อบก. กำหนดเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงรายละเอียดและความซับซ้อนของการประเมินในแต่ละกรณี เพราะในความเป็นจริงกระบวนการผลิตในแต่ละอุตสาหกรรมมีความหลากหลาย ทั้งในเชิงเทคโนโลยี วัตถุดิบ และระบบการจัดเก็บข้อมูล ทำให้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการประเมิน เราจึงต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเข้าใจบริบทของแต่ละระบบการผลิตได้อย่างลึกซึ้งประสบการณ์ภาคสนามจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเชี่ยวชาญ ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ ตัดสินใจ และให้คำปรึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเป้าหมายของความยั่งยืนในแต่ละองค์กร

PETROMAT:  คิดอย่างไรกับการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าโลกร้อนไม่มีอยู่จริง

คุณณัฐวดี: แม้จะยังมีบางประเทศหรือบางกลุ่มคนที่ยังขาดความตระหนักหรือยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน แต่ในแง่วิทยาศาสตร์มีข้อมูลและหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากกว่าทศวรรษก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ดิฉันเชื่อว่าการสื่อสารเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และในรูปแบบที่เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง และจูงใจให้เกิดความร่วมมือระดับโลก เพราะการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษยชาติทุกคน

PETROMAT:  ขอ Case Study ที่ประทับใจในการลงพื้นที่

คุณณัฐวดี: หนึ่งใน Case Study ที่ดิฉันรู้สึกประทับใจอย่างมาก คือการเข้าไปให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ซึ่งในช่วงแรกยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์จะสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจได้อย่างไร โดยมองว่าเป็นเพียงต้นทุนหรือภาระเพิ่มเติมขององค์กร แต่เมื่อเราได้เริ่มต้นเก็บข้อมูลและวิเคราะห์กระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ ก็สามารถชี้ให้เห็นว่าแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากนั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับต้นทุนวัตถุดิบ พลังงานที่ใช้ และของเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงด้านการเงินที่องค์กรต้องแบกรับอยู่แล้ว จากการประเมินนี้ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มเห็นโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และวางแผนปรับปรุงกระบวนการในระยะยาวอย่างมีเป้าหมาย พร้อมกันนี้ องค์กรยังสามารถนำผลการประเมินและทวนสอบไปใช้ขอรับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จาก อบก. ซึ่งช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ในสายตาลูกค้า และเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อีกด้วย Case Study นี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ความยั่งยืน” และ “ผลประกอบการ” ไม่จำเป็นต้องสวนทางกัน หากมีข้อมูลที่ถูกต้องและการวางแผนที่เหมาะสม ทั้งสองสามารถเดินหน้าไปพร้อมกันได้อย่างเข้มแข็ง

PETROMAT:  จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคิดว่าประเทศไทยอยู่ในจุดไหนของการเข้าสู่ Net Zero Carbon Society

คุณณัฐวดี: จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานในภาคสนามและร่วมกับหลากหลายภาคส่วน ดิฉันมองว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการ “เริ่มขยับตัวอย่างจริงจัง” สัญญาณเชิงบวกเริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น ทั้งจากนโยบายภาครัฐที่มีทิศทางชัดเจนขึ้นในการผลักดันสู่เป้าหมาย Net Zero รวมถึงภาคเอกชนที่เริ่มมองเห็นว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจ การแข่งขัน และภาพลักษณ์ขององค์กร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในเชิงปฏิบัติ เรายังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเชิงลึก ตลอดจนระบบแรงจูงใจและมาตรการสนับสนุนที่ต้องขยายให้เข้าถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจแต่ยังขาดทรัพยากรในการปรับตัว หากสามารถเร่งสร้างความพร้อมเหล่านี้ได้ ประเทศไทยก็มีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

PETROMAT:  สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรถึงท่านผู้อ่านครับ

คุณณัฐวดี: หากองค์กรหรือผู้ประกอบการท่านใดกำลังมองหาแนวทางในการพัฒนาเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์หรือขององค์กร ดิฉันขอเรียนเชิญให้ติดต่อมายัง PETROMAT ได้เลยนะคะ เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละองค์กร

ดิฉันเชื่อว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่จำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งใหญ่เสมอ ขอเพียงมีความตั้งใจและแนวทางที่ถูกต้อง เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างแท้จริง และดิฉันยินดีเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ที่ช่วยผลักดันให้เป้าหมายนั้นเกิดขึ้นค่ะ

PETROMAT ขอขอบคุณ คุณณัฐวดี เสริมสุข ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ครั้งนี้ครับ และขอประชาสัมพันธ์ถึงองค์กรที่สนใจด้าน “Carbon Neutrality” และ “Net Zero Emissions” สามารถติดต่อมาที่ PETROMAT ได้นะครับ คุณณัฐวดี และทีมงานพร้อมให้คำปรึกษาครับ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th