เรื่องโดย นุสรา จริยะสกุลโรจน์
ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หนึ่งในสาเหตุมาจากการทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างรวดเร็วในอดีต ทำให้แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions ย่อว่า NbS) ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงและให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Mitigation) ทำให้เกิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Adaptation) และยังมีศักยภาพอย่างมากในการแก้ไขปัญหาและประเด็นท้าทายระดับโลก เช่น ภาวะโลกรวน (Climate Change) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย (Disaster Risk Reduction) รวมถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ให้คำจำกัดความของ Nature-based Solution ว่าหมายถึง “การดำเนินงานเพื่อคุ้มครอง จัดการอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยการจัดการกับความท้าทายด้านสังคม (Societal Challenges) อย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ และดำรงรักษาประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ”
Nature-based Solutions อาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ ระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐาน แล้วจึงพัฒนาดูแลรักษาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น
- การแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการรื้อฟื้นความรู้เกี่ยวกับห้วยหนองคลองบึง การไหลหลากของน้ำ การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่คอยรับน้ำ
- การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำแบบอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานโดยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างระบบกักเก็บน้ำย่อยๆ ในระดับท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน การเพาะปลูกชนิดพันธุ์พืชให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
- การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานด้วยการเข้าใจสาเหตุของปัญหาต้นทางและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นพืชชายหาด ป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการังที่ล้วนเป็นปราการป้องกันชุมชนใกล้เคียงจากพายุ คลื่นลมและการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งวิธีนี้อาจใช้งบประมาณน้อยกว่าครึ่งของการสร้างกำแพงกันคลื่น (Sea Wall) ที่เห็นตามชายทะเลในปัจจุบันเสียอีก (ONEP, 2019)
- การแก้ปัญหาแบบอาศัยธรรมชาติในบริบทของเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดความร้อนจากแสงแดด นอกจากจะนำมาซึ่งสุขภาวะที่ดีของคนในเมืองแล้ว ยังเป็นส่วนช่วยซับปริมาณน้ำฝน และป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เมืองอีกด้วย
The World Bank ได้ประมาณการไว้ว่า Nature-based Solutions หรือ การใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานแก้ปัญหาภาวะโลกรวนก่อนปี 2030 จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ถึง 37% และสร้างความยืดหยุ่นในการดำรงชีวิตมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยมีโครงการด้าน Nature-based Solutions อาทิเช่น โครงการปลูกป่าขนาดใหญ่ที่เน้นไม้ท้องถิ่นในภาคเหนือ การฟื้นฟูป่าโกงกางบริเวณชายฝั่ง โครงการป่าในเมือง การฟื้นฟูแหล่งน้ำในภาคกลาง และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภาคใต้ เป็นต้น โครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย และยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น องค์กรของรัฐและภาคเอกชน
อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมส่งผลให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแนวทาง Nature-based Solutions จึงอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในเวลานี้ในการจัดการอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งข้อมูล
- https://setsustainability.com/libraries/1151/item/nature-based-solution-nbs-
- https://www.iucn.org/resources/issues-brief/ensuring-effective-nature-based-solutions
- https://www.facebook.com/onep.gov.th/posts/943004622803592/?locale=th_TH
- https://www.worldbank.org/en/news/feature/2022/05/19/what-you-need-to-know-about-nature-based-solutions-to-climate-change