เรื่องโดย นุสรา จริยะสกุลโรจน์
มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า ปี ค.ศ. 2050 จะมีคนกว่า 6,200 ล้านคน เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% ของประชากรโลกทั้งหมด และจะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นถึง 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด จากตัวเลขจะเห็นว่า ถ้าเราไม่ทำอะไร ในปี ค.ศ. 2050 ภาวะโลกร้อนก็จะยิ่งทวีความรุนแรงจนส่งผลให้ประชากรในเมืองได้รับความเสี่ยงจากภัยพิบัติมากขึ้น
“สังคมคาร์บอนต่ำ” เป็นหนึ่งในทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ลดความเสี่ยงและความรุนแรงดังกล่าวได้ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักและเข้าใจแนวทางการพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำกันค่ะ
สังคมคาร์บอนต่ำคืออะไร
สังคมที่ทุกคนและทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือลดการปล่อยคาร์บอนในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างจริงจังและได้ผล พร้อมกับสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี รักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข
แนวทางการพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำต้องดูเรื่องอะไรบ้าง
- พลังงานทางเลือกในสังคม
การประหยัดพลังงานเป็นพื้นฐานแรกของการลดการปล่อยคาร์บอน และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ มาทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวการใหญ่ของการปล่อยคาร์บอนสร้างปัญหาภาวะโลกร้อน
- การรักษาป่าไม้
ป่าไม้คือทรัพยากรที่สำคัญในการช่วยดูดชับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศและกักเก็บไว้ และยังทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุรักษ์น้ำ แหล่งอนุรักษ์ดิน แหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างดีในอนาคต
- พื้นที่สีเขียว
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวมีส่วนทำให้ต้นไม้ที่ดูดชับคาร์บอนเพิ่มขึ้น ช่วยลดอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของพื้นที่โดยรอบจากการคายน้ำของต้นไม้ สร้างร่มเงาบังแดดให้แก่อาคาร ช่วยให้การใช้พลังงานของระบบปรับอากาศในอาคารลดลง ยังไม่นับคุณค่าทางจิตใจที่มนุษย์ต้องการสัมผัสธรรมชาติเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเมือง
- Reduce Reuse Recycle
การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอาศัยหลักการดูแลสิ่งแวดล้อม 3 ประการที่เข้าใจง่ายและเรียงตามความสำคัญ คือ
- Reduce ลดการผลิตและการใช้สิ่งของ ลดการใช้พลังงานที่มากเกินความจำเป็น
- Reuse นำสิ่งของต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำให้มากที่สุดแทนการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
- Recycle นำวัสดุสิ่งของที่อาจใช้ซ้ำไม่ได้แล้วกลับมาแปรรูปให้กลับมาใช้ได้ใหม่
- ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Eco – Friendly หรือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอีกแนวคิดสำคัญของการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการใส่ใจต่อสินค้าหรือบริการตลอดทั้งวงจรชีวิต ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิตหรือแปรรูป บรรจุภัณฑ์ การจัดจำหน่าย การตลาด การใช้งาน การกำจัดเมื่อหมดอายุ โดยขั้นตอนและกระบวนการทั้งหมดนี้ต้องปล่อยคาร์บอนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
- ขยะก็ปล่อยคาร์บอน
สังคมทุกวันนี้เร่งการผลิตเพื่อให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจขยับก้าวหน้า ทุกคนต้องการรายได้และกำไรที่มากขึ้นเรื่อย ๆ สินค้าและบริการมากมายถูกผลิตและโฆษณาสร้างความต้องการที่เกินความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต สุดท้ายคือขยะมหาศาลรวมถึงขยะเศษอาหารที่จัดการไม่ถูกต้องที่กำลังล้นโลกและขยะเหล่านี้ทำให้เกิดก๊าซมีเทนปล่อยสู่บรรยากาศ ซึ่งก๊าซมีเทนมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ถึง 28 เท่า การจัดการขยะจึงเป็นสิ่งที่ทำง่ายและใกล้ตัว ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางขึ้นได้
สังคมคาร์บอนต่ำ ควรเริ่มจากตรงไหน
เมืองขนาดใหญ่เป็นเมืองที่จะประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด เพราะยากต่อการจัดการ การปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ขณะที่ชุมชนขนาดเล็กในระดับหมู่บ้าน ตำบลหรือเมืองเล็ก มีโอกาสสร้างความร่วมมือเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จัดการให้เกิดการพึ่งตนเองด้านพลังงาน น้ำ ป่า ได้ง่ายกว่า ในที่สุดก็อาจขยายเครือข่ายความร่วมมือกว้างขึ้นสู่ระดับจังหวัดและภูมิภาค
มีที่ไหนสร้างสังคมคาร์บอนต่ำได้แล้วบ้าง
ต่างประเทศ
เมืองมาสดาร์ (Masdar City) รัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไม่ต้องพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ทุกผลิตภัณฑ์และผลผลิตที่ได้จากธุรกิจในเมืองนี้จะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทุกอาคารในเมืองถูกออกแบบให้มีระยะห่างที่เหมาะสมในการช่วยบังแดดให้กับถนนและทำให้เกิดกระแสลมหมุนในเมือง ส่วนการเดินทางในเมืองแห่งนี้ระบบขนส่งมวลชนถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดทั้งหมด รถยนต์ส่วนตัวก็วางแผนให้เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก นอกจากนั้นในเขตเมืองชั้นในยังห้ามการนำรถส่วนตัวมาใช้ โดยให้จอดรถไว้บริเวณรอบ ๆ เมือง
โครงการเมืองสีเขียว เมืองมาสดาร์ (Masdar City) รัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ที่มา : บทความเรื่อง มาสดาร์ ซิตี้ เมืองสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทย
เทศบาลตำบลเมืองแกลง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง (แกลงโมเดล)
ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นในทุกพื้นที่ว่างของเมือง ลดขยะจากแหล่งกำเนิดและส่งเสริมการจัดการขยะตามแนวคิด “ของเสียไม่เสียของ” ด้านพลังงานมีการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นแบบประหยัดพลังงาน ปรับระบบรถเทศบาลบางคันมาใช้ไบโอดีเซล จัดทำโครงการบริการขนส่งมวลชนภายในเมืองด้วยการใช้รถก๊าซแอลพีจีส่งเด็กนักเรียนและประชาชนในช่วงเช้าและเย็นเพื่อลดการใช้รถส่วนตัว
เทศบาลคาร์บอนต่ำ “แกลงโมเดล”
ที่มา : บทความ Low Carbon Tourism “แกลงโมเดล” Low Carbon Tourism ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ชวนคุณมาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วยกัน
ทุกภาคส่วนคงต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งแต่ระดับนโยบายของภาครัฐ เรื่อยมาจนถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คนในสังคม การนำแนวทางต่าง ๆ ไปปฏิบัติอย่างจริงจังในระดับชุมชน ตำบล เมือง รวมไปถึงภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความสุขและความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตของคนไทยและลดความรุนแรงในการเผชิญภาวะโลกร้อนของโลกต่อไป
แหล่งข้อมูล
- คู่มือสังคมคาร์บอนต่ำ Low Carbon Society Guidebook โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
- https://risc.in.th/th/knowledge/เมืองคาร์บอนต่ำคืออะไรแล้วเราจะเริ่มได้อย่างไร
- https://healthserv.net/221261
- https://www.facebook.com/photo/?fbid=950292015030775&set=a.880632828663361