YOLO Model “เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน”

เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล

“รีไซเคิล” เป็นคำศัพท์ที่ได้ยินกันมากว่า 20 ปี เป็นกระบวนการที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาขยะพลาสติก เป็นแนวทางสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และทำให้เกิดธุรกิจด้านการรีไซเคิลขึ้นมามากมาย จากข้อมูลของสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม1) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ในปี พ.ศ. 2556 ประเทศไทยมีร้านรับซื้อของเก่าที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องมีราว 5,000 – 6,000 แห่ง แต่ในความเป็นจริงมีการคาดการณ์จํานวนร้านรับซื้อในประเทศไทยถึงกว่าหมื่นแห่ง และมีโรงงานรีไซเคิลกว่า 5,300 แห่ง ซึ่งน่าจะทำให้ขยะพลาสติกในประเทศมีการบริหารจัดการที่ดีและมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก แต่จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม2) ในปี พ.ศ. 2565 พบว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ ทำให้เห็นว่าการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศไทยยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมากที่ยังต้องพัฒนากันต่อไป

เพื่อศึกษาและหาทางออกให้กับการรีไซเคิลขยะพลาสติก PETROMAT ได้รับเกียรติในการเข้าสัมภาษณ์ “คุณเกศทิพย์ หาญณรงค์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด หรือ YOLO ซึ่งเป็น Startup ด้านการรีไซเคิลขยะพลาสติกแบบครบวงจร โดยคุณเกศทิพย์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขยะพลาสติกของประเทศและโมเดลการบริหารจัดการ ซึ่ง YOLO ได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จดังนี้

  • Facebook Page: YOLO – Zero Waste Your Life
  • การรับบริจาคพลาสติกกำพร้า
  • การอัพไซเคิลพลาสติกกำพร้าเป็นสินค้า
  • Circular Economy Business Model

PETROMAT : อยากให้คุณเกศทิพย์ช่วยเล่าที่มาของคำว่า YOLO ในชื่อบริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด และบริษัทเข้ามาสู่ธุรกิจพลาสติกรีไซเคิลได้อย่างไร

คุณเกศทิพย์: “YOLO” มาจาก “You Only Live Once” เราเกิดมามีชีวิตเดียวเพราะฉะนั้นต้องใช้ให้คุ้ม เล่าให้ฟังง่ายๆ อย่างนี้ค่ะ คือตอนที่เกศทำเรื่องปัญหาขยะพลาสติก เรามองหาว่าตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคืออะไรกันแน่ โดยเราพบว่าการใช้งานพลาสติกนั้นมีปริมาณมาก แต่มีพลาสติกเพียงส่วนเดียวที่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกใส พลาสติกเนื้อหนา และพลาสติกเนื้อแข็ง ต้องมีปริมาณมากพอสมควร และมีความสะอาดในระดับหนึ่ง จากข้อมูลพบว่าปริมาณการใช้พลาสติกของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณปีละ 2 ล้านตัน สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เพียง 5 แสนตัน แล้วอีก 1.5 ล้านตันเป็นพลาสติกอะไร หลังจากที่ทำการวิจัยดูก็พบว่ามันคือพลาสติกทั่วไปที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนั่นแหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นแก้วกาแฟ ช้อน ส้อม มีด ขวดนม ถ้วยโยเกิร์ต ฯลฯ จึงกลับมาดูว่าพอจะมีโมเดลไหนที่ YOLO พอจะทำได้บ้าง สิ่งที่ YOLO เริ่มทำเมื่อ 5 ปีที่แล้วคือเราเปิดรับบริจาค “พลาสติกกำพร้า”

PETROMAT : สะดุดใจกับคำว่า “พลาสติกกำพร้า” เพราะปกติที่หาข้อมูลเกี่ยวกับ YOLO จะมีคำนี้ขึ้นมาคู่กัน รบกวนคุณเกศทิพย์ช่วยอธิบายความหมายด้วยครับ

คุณเกศทิพย์: ความหมายของ “พลาสติกกำพร้า” ก็คือพลาสติกทั่วไปที่ซาเล้ง (รับซื้อของเก่า) ไม่รับ บริษัทรีไซเคิลขนาดใหญ่ไม่นำไปรีไซเคิล เป็นสถานการณ์เมื่อ 5 ปีที่แล้วนะคะ พอ YOLO เปิดรับบริจาค พบว่ามีคนที่เหมือนเรา ที่แยกขยะไว้ในบ้าน ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้ทิ้งออกไป เพราะรู้ว่าเมื่อไรที่ทิ้งออกจากบ้านจะไปอยู่ที่หลุมเทกอง คนกลุ่มนี้จึงส่งขยะที่เขามีมาให้เรา สิ่งที่เราได้ทำคือเราได้คัดแยกขยะออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือส่วนที่สามารถส่งคืนกลับไปรีไซเคิลในระบบใหญ่ได้ เราจะจัดการส่งกลับเลย โดยช่วงแรกๆ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว YOLO ได้ชักชวนคนที่ทำอาชีพรับซื้อของเก่าหรือคนไร้บ้านมาช่วยคัดแยกและให้คนกลุ่มนี้นำไปขาย โดยอะไรที่สามารถขายให้ร้านรับซื้อของเก่าได้ก็ให้เขานำเข้าระบบไป มาช่วงหลังนี้ YOLO ได้ประสานงานกับโรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลให้ช่วยรับซื้อพลาสติกที่ผ่านการคัดแยกกลับไปทำพลาสติกรีไซเคิล วนเข้าไปใช้ในระบบใหญ่ โดยพลาสติกที่โรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลรับซื้อ ได้แก่ rHDPE, rPET, rPP ประเภท PS จะไม่ค่อยรับ พวกพลาสติกกรอบ แก้วพลาสติกบางๆ สำหรับ PP ที่รับจะเป็นพวกกล่องอาหารใส ส่วนพวกกล่องอาหารสีดำ กล่องอาหารสีแดง และกล่องอาหารที่มีสกรีนลวดลายมากๆ จะไม่รับ พวกแก้วกาแฟจะรับเพียงแก้วกาแฟใส แก้วกาแฟที่มีสกรีนลวดลาย แก้วชานมไข่มุกที่มีฟิล์มฝาปิดก็ไม่รับ คือจะเลือกแต่วัตถุดิบที่มีคุณภาพแล้วนำวนกลับไปรีไซเคิล หลังจากที่คัดพลาสติกส่วนที่กล่าวมาส่งไปให้ผู้ใช้ได้แล้ว จะเหลืออีก 2 ส่วน คือ พลาสติกส่วนที่รีไซเคิลได้ด้วยเครื่องจักรขนาดเล็กที่ YOLO สร้าง และ พลาสติกส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จริงๆ ส่วนนี้จะถูกส่งไปทำถนนหรือเผาเป็นพลังงาน

โดยสรุปแล้ว ขยะพลาสติกจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1) ส่วนที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ จะส่งกลับในระบบรีไซเคิลใหญ่ 2) ส่วนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ส่งไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าของ YOLO 3) ส่วนที่ไม่มีใครรับจริงๆ กำพร้าในกำพร้า จะนำไปเผาเป็นพลังงานหรือส่งไปทำเป็นถนนหรืออิฐ

PETROMAT : มีเกริ่นถึงเครื่องจักรรีไซเคิลของ YOLO ว่าเป็นเครื่องจักรขนาดเล็ก อยากทราบถึงโมเดลการผลิตของ YOLO ว่าเป็นอย่างไร

คุณเกศทิพย์: YOLO เกิดขึ้นมาเพราะเราอยากจะลองโมเดลว่า ตอนนี้ขยะส่วนใหญ่ถูกส่งไปหลุมเทกอง และเราก็ทราบว่าหลุมเทกองเริ่มเต็มมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็ไม่สามารถทำสงครามขยายอาณาเขตได้แล้ว พื้นที่ประเทศก็มีอยู่เท่าเดิม เราคงขุดหลุมเพื่อฝังขยะไปเรื่อยๆ ไม่ได้ แนวโน้มของประเทศคือการสร้างโรงเผาขยะเพื่อเปลี่ยนขยะไปเป็นพลังงาน แต่คำถามคือ ทุกวันนี้เราไม่ได้แยกขยะมาจากต้นทาง เมื่อขนขยะไปเข้าโรงเผาขยะขนาด 500 ตันต่อวัน แต่ต้องมาเสียเวลาในกระบวนการแยกขยะ การทำให้ขยะแห้ง ทำให้กำลังการผลิตเหลือเพียง 300 ตันต่อวัน มันเกิดค่าเสียโอกาสไปเท่าไหร่ YOLO จึงอยากทำโมเดลที่มีจุดคัดแยกขยะหลายๆ จุด เพื่อแยกสิ่งที่วนกลับเข้ารีไซเคิลในระบบใหญ่ สิ่งที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในอุตสาหกรรมใหญ่ และขยะที่เหลือจะต้องไม่ถูกนำไปบวกกับค่าน้ำมันในการขน เราจึงเสนอทางเลือกในการทำรีไซเคิลผ่านเครื่องจักรขึ้นมา แต่มูลค่ามันจะเพิ่มขึ้นได้ ต้องทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ภาครัฐ ที่จะเป็นปลายน้ำว่าขยะที่เหลือจากชุมชนจะสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง

ในระบบการผลิตของ YOLO เครื่องจักรที่ใช้จะเป็นเครื่องจักรขนาดเล็กที่ชุมชนใช้ได้ ใช้ไฟบ้านปกติ เริ่มจากการนำขยะพลาสติกมาเข้าเครื่องบดพลาสติกขนาดเล็ก กำลังการผลิตอยู่ที่ 10 – 15 กิโลกรัมต่อชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นนำพลาสติกที่บดแล้วไปเข้าเครื่องหลอมเป็นแบบฉีดแนวนอน ออกมาเป็นเส้น สามารถนำไปทำเป็นหวายเทียมได้ และมีเครื่องหลอมเป็นแบบฉีดแนวตั้งผ่านแม่พิมพ์ อยากได้แม่พิมพ์แบบไหนสามารถทำได้เลย เครื่องนี้ YOLO สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับ SMEs ปกติแม่พิมพ์อุตสาหกรรมจะมีราคาเริ่มต้นที่ชิ้นละ 300,000 บาท ในขณะที่แม่พิมพ์ของ YOLO เริ่มต้นที่ 7,000 บาท สามารถสร้างชิ้นงานได้ในลักษณะที่ลองตลาดจำนวน 500 – 1,000 ชิ้น ถ้าตลาดตอบรับดีค่อยยกระดับไปเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ นอกจากนี้มีเครื่องหลอมแนวตั้งสำหรับชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา เช่น กระถางต้นไม้ แผ่นกระเบื้อง โดยพลาสติกที่ใช้จะเป็นพลาสติกชนิด HDPE LDPE PP PS และล่าสุดได้ทดลอง PLA ด้วย

PETROMAT : ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลที่ YOLO ได้นำเข้าสู่ตลาดแล้วมีอะไรบ้าง

คุณเกศทิพย์: เริ่มจากพื้นฐานง่ายสุดเข้าพิมพ์ง่ายๆ เป็นกระถางต้นไม้เล็กๆ หรือจานรองแก้วจากฝาขวด ขวดนม และกล่องอาหาร  ต่อมาเป็นการฉีดให้เป็นเส้นออกมา เพื่อทำเป็นหวายเทียมหรือ Filament สำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยใช้วัตถุดิบจากแก้วกาแฟ PLA ถึงแม้ว่า PLA จะเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ แต่ PLA จะย่อยสลายในสภาวะจำเพาะ ซึ่งถ้าทิ้งในธรรมชาติปกติจะย่อยสลายยาก เป็นปัญหาการจัดการขยะ YOLO จึงรับมาทดลองทำผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมา อีกทางก็คือนำ PLA มาอัดขึ้นรูปเป็นจานรองแก้วหรือกระถางเช่นกัน ก็ออกมาสวยทีเดียว เพราะมีความโปร่งแสงในตัว สุดท้ายเป็นกระเป๋าแบรนด์ไทยชื่อ PIPATCHARA

PETROMAT : ขอทราบความเป็นมาของความร่วมมือระหว่าง YOLO กับ PIPATCHARA ด้วยครับ

คุณเกศทิพย์: ก่อนที่ YOLO จะมาทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือดีไซน์เนอร์ เวลาที่ขายพลาสติกให้กับโรงงานทำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลหรือโรงงานที่รับซื้อของเก่าจะได้ราคาที่ 8 – 12 บาทต่อกิโลกรัม แล้วแต่ว่าเป็นพลาสติกชนิดอะไร ถ้าเป็นแบบคุณภาพต่ำๆ ก็อาจจะได้ราคา 2 – 3 บาทต่อกิโลกรัม ตอนที่ YOLO ขายผลิตภัณฑ์กระถางต้นไม้แล้วจานรองแก้วจะอยู่ที่ราคาชิ้นละ 50 – 100 บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ลูกค้าสั่ง นั่นคือ เกิดมูลค่าเพิ่มจากพลาสติกที่ราคา 2 – 12 บาทต่อกิโลกรัม สามารถทำราคาขึ้นไปได้ถึง 1,500 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากนั้น YOLO ได้ทำวิจัยร่วมกับ PETROMAT และมหาวิทยาลัย รวมถึงการผูกพันธมิตรกับแบรนด์สินค้าในประเทศไทย ทำให้เราเริ่มดีไซน์จากขยะพลาสติกที่เหลือทิ้งว่าเป็นประเภทอะไรที่มีจำนวนมาก พบว่ามี Food Packaging แก้วกาแฟ ฝาขวด ขวดนมเปรี้ยว ช้อน ส้อม มีดที่มีสีที่รวบรวมไม่ค่อยได้อย่างสีม่วง สีเหลือง สีเขียวมะนาว พลาสติกกรอบใสๆ เราจะนำมารวมกันจากนั้นดีไซเนอร์จะมาเลือกชิ้นส่วนกระเป๋าสีต่างๆ มาผลิตเป็นกระเป๋า เช่น ชิ้นส่วนสีดำจากกล่องอาหารสีดำและฝาขวดสีดำจากขยะทะเลซึ่งชุมชนระนองเก็บรวบรวมมาให้ ชิ้นส่วนสีเขียวจะได้จากฝาขวดสีเขียวรวมกับกล่องอาหารใส ชิ้นส่วนสีขาวปนชมพูจะมาจากขวดนมเปรี้ยว ชิ้นส่วนสีเหลืองจะมาจากพลาสติกที่สกรีนสีเหลืองกับแก้วกาแฟ YOLO จะเลือกใช้พลาสติกที่สกรีนตัวสีเหลือง สีดำ และสีขาว ชิ้นส่วนสีขาวจะมาจากช้อน ส้อม มีด และกล่องอาหาร จากนั้นโยโลได้รับความช่วยเหลือจาก PETROMAT ในการทดสอบวิจัยความแข็งแรงและความคงทนต่อแสงยูวี ความร้อนความชื้นเพื่อดูระยะเวลาการใช้งาน การเฟดของสี ก่อนที่จะนำไปใช้งานจริง ซึ่งก็ทดสอบออกมาจนทราบว่า Shelf Life ของอะไหล่กระเป๋าที่เราทำสามารถคงทนได้มากกว่า 2 ปีเป็นอย่างน้อย

กระเป๋าหนึ่งใบจะใช้ชิ้นส่วนกระเป๋าพลาสติก 190 ชิ้น รวมน้ำหนักประมาณ 200 กรัม สามารถขายกระเป๋าได้ในราคาใบละ 21,900 บาท โดยในเดือนเมษายน 2565 ได้เปิดตัวกระเป๋าที่งานปารีสแฟชั่นวีค (Paris Fashion Week) จากนั้นได้วางขายที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น G โดยคอลเลกชันนี้ เกิดขึ้นด้วยแรงงานจากชุมชนที่นำเครื่องจักรของ YOLO ไปใช้ ซึ่งเครื่องจักรไม่ใช่เครื่องจักรที่สามารถผลิตชิ้นงานได้วันละหมื่นหรือแสนชิ้น แต่เป็นเครื่องจักรขนาดเล็กตามที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น 1 เดือน สามารถผลิตได้เพียง 10,000 ชิ้น และต้องตัดแต่งกันแบบงานฝีมือ (Handcraft) จากการเก็บรวบรวมขยะมาทำความสะอาด คัดแยกสี เข้าเครื่องจักรที่ชุมชนนนทบุรี จากนั้นส่งชิ้นส่วนทั้งหมดไปต่อประกอบด้วยแรงงาน (Manpower) ที่เชียงราย ใช้หนังนำเข้าจากอิตาลี ประกอบขึ้นมาจนได้กระเป๋าจำนวน 500 ใบ โดยมียอดจองแล้ว 300 ใบ ส่วนอีก 200 ใบ จะนำไปวางขายตามสาขาต่างๆ ทั่วโลก ราคาใบละ 21,900 บาท จำนวน 500 ใบ ราคารวมก็คือ 11 ล้านบาท แล้วในตอนนี้ผลตอบรับก็ดีมากจนขยายจากกระเป๋าไปทำเป็นเสื้อผ้าแล้ว ถ้าบริษัทเล็กๆ อย่าง YOLO ทำได้ 1 ชุมชน แล้วถ้าช่วยกันทั้งประเทศจะเกิด Impact ขนาดไหน

PETROMAT : จากเดิมที่แปรรูปขายได้ 1,500 บาทต่อกิโลกรัม พอได้ร่วมมือกับบริษัทใหญ่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มเป็น 11 ล้านบาท ที่ผ่านมา YOLO เจอกับอุปสรรคหรือความท้าทายอะไรบ้างครับ

คุณเกศทิพย์: Pain Point ของ YOLO อยู่ที่ค่าขนส่งที่คนส่งของต้องจ่ายเพื่อส่งของมาให้ YOLO แต่ถ้าเกิดว่าสามารถทำจุด Waste Collection แล้วทำให้ลดค่า Logistic ได้ ส่งขยะข้ามจังหวัดไปได้หลายๆ จุด โดยที่ต้นทางไม่ต้องจ่ายค่าส่งมา เขาสามารถเดินไปสำนักงานเขต ปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า หรือร้านละดวกซื้อ เป็นจุดที่สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของผู้อยากจะส่งขยะพลาสติกและสามารถหาปลายทางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ มี Circular Economy แบบนี้ในแต่ละจังหวัด ก็จะเป็นเรื่องดีที่ทำให้ขยะพลาสติกสามารถวนกลับไปได้ ยกตัวอย่าง 5 ปีที่ผ่านมา YOLO ได้คำนวณจากปริมาณกล่องพัสดุที่ได้รับและชั่งน้ำหนักคร่าวๆ พบว่ามีขยะพลาสติกที่ YOLO นำมาจัดการรีไซเคิลประมาณ 1 แสนกิโลกรัม ดังนั้น ถ้าเป็นโมเดลที่ตั้งจุด Waste Collector แล้วแต่ละจุดรับขยะพลาสติกกลับมาได้ 1 แสนกิโลกรัมในเวลา 5 ปี จะเกิดเป็น Feedstock ของพลาสติกสะอาดที่มีการคัดแยกจากชุมชนและสามารถส่งเข้าสู่ระบบใหญ่ได้อีกมาก นี่คือสิ่งที่ YOLO พยายามทำอยู่

ขอขอบคุณ คุณเกศทิพย์ หาญณรงค์ ที่ให้เกียรติในการให้สัมภาษณ์ลงคอลัมน์ Interview ใน PETROMAT Today Online โดย PETROMAT ยินดีที่จะร่วมวิจัยและสนับสนุนโครงการต่างๆ ของ YOLO ต่อไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่สังคม Net Zero ด้วยแนวทาง Circular Economy

แหล่งข้อมูล

  1. สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “สถานการณ์อุตสาหกรรมรไซเคิลของประเทศไทย ในปัจจุบัน” Plastics Foresight, Volume 09 – 02, September – October 2013 หน้า 12 – 16 ค้นหาจาก https://thaiplastics.org/img/content_attachment/attach/plastics_foresight_issue9.pdf เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565
  2. ทัศนธร ภูมิยุทธ “ขยะพลาสติก” สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5 มกราคม 2565 ค้นหาจาก https://www.onep.go.th/ขยะพลาสติก/ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th