เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล
บทสัมภาษณ์ คุณสุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE)
“โชติช่วงชัชวาล” วลีจาก พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ในพิธีเปิดวาล์วส่งก๊าซธรรมชาติ ณ สถานีส่งก๊าซชายฝั่ง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2524 นับเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานความมั่นคงด้านการพัฒนาพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย จากวันนั้นผ่านเวลามากว่า 40 ปี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเติบโตขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศที่ครองสัดส่วน GDP อันดับต้นๆ ปัจจุบันกระแสของโลกด้านสิ่งแวดล้อมมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น Circular Economy, Carbon Neutral, Net Zero นับเป็นความท้าทายใหม่ต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี
PETROMAT ได้รับเกียรติในการเข้าสัมภาษณ์คุณสุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE) ซึ่งท่านได้ให้ข้อมูลและแนวทางผ่านการทำงานของ TIChE อย่างน่าสนใจ
- บทบาทและหน้าที่ของ TIChE
- ภาพรวมของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย
- การเตรียมพร้อมรับมือกับกระแส Circular Economy และ Net Zero
PETROMAT: อยากให้คุณสุรเชษฐ์ ช่วยเล่าประวัติการทำงานจนได้มารับตำแหน่งนายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE)
คุณสุรเชษฐ์: ผมเริ่มทำงานกับธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครือ SCG ตั้งแต่ยุคก่อสร้างและเริ่มเดินเครื่องโรงงานโพลีเอทีลีนโรงแรกในโครงการปิโตรเคมีขั้นที่ 1 ของประเทศที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นยุคหลังจากที่เราค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยรัฐบาลมีนโยบายให้มีการทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งก็คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต่อจากนั้นได้มีโอกาสร่วมในการทำโครงการต่างๆ เพื่อขยายธุรกิจของเครือ SCG มาเรื่อยๆ ตั้งแต่การขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจโพลีโพรไพลีน จนกระทั่งการขยายไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ มีการริเริ่มโครงการโรงโอเลฟินส์โรงแรกของ SCG ในปี ค.ศ. 1995 สมัยนั้นเรียกได้ว่าเป็นโครงการใหญ่มากของประเทศ โดยเป็นโรงงานขนาด World Scale ในเวลานั้น หลังจากนั้นผมได้มีโอกาสย้ายไปดูแลโครงการต่างๆ ตามทิศทางการเติบโตของบริษัท จากนั้นประมาณหลังจากปี ค.ศ. 2004 บริษัทเริ่มมีนโยบายเรื่องการเพิ่มความสามารถในการพัฒนานวัตกรรม ผมก็ได้รับมอบหมายให้มาดูแลการจัดตั้งศูนย์วิจัย สร้างทีมนักวิจัย มีการรับนักวิจัยระดับปริญญาเอกเข้ามาทำงานจำนวนน่าจะมากที่สุดในยุคนั้น หลังจากทำงานด้านวิจัย ผมก็ได้รับมอบหมายให้มาดูแลด้านเทคโนโลยี ต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ และช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ให้กับธุรกิจ อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่คือเราพยายามพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองที่เป็นของคนไทย
สำหรับเส้นทางที่ทำให้ผมเข้ามาทำงานในสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE) นั้น เป็นช่วงที่ท่านศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล กิตติศุภกร ภาควิชาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนายกสมาคม ท่านได้เชิญผมไปเป็นอุปนายกสมาคมด้านอุตสาหกรรม พอผมได้เข้าไปร่วมงานกับ TIChE ทำให้เห็นว่า TIChE ยังไม่เป็นที่รู้จักและมีบทบาทต่อวงการวิศวกรรมเคมีเท่าที่ควร ผมจึงมีความปราถนาที่จะเข้ามาช่วยทำสมาคมฯ ให้เป็นที่รู้จักและมีบทบาทในการยกระดับวิชาชีพวิศวกรรมเคมี ทั้งในภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ในปีถัดมาผมก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ โดยได้พยายามริเริ่มกิจกรรมหลายๆ อย่างเพื่อยกระดับวิชาชีพวิศวกรรมเคมี สร้างเครือข่ายในวิชาชีพวิศวกรรมเคมี เพราะทุกวันนี้เรามีวิศวกรเคมีในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากกว่า 10,000 คน มีบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมเคมีจบศึกษาออกมาประมาณปีละ 700 คน มีสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมเคมีมากกว่า 27 แห่ง นับเป็นปริมาณที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมีสมาคมวิชาชีพเข้ามาช่วยสร้างเครือข่ายเหมือนในต่างประเทศ เช่น The American Institute of Chemical Engineers (AIChE) ของอเมริกา หรือ Institution of Chemical Engineers (IChemE) ของอังกฤษ ผมจึงอาสาเข้ามาทำตรงนี้ครับ
PETROMAT: หลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ทำให้คุณสุรเชษฐ์เห็นความเชื่อมโยงของภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม คุณสุรเชษฐ์มีมุมมองต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร
คุณสุรเชษฐ์: ภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีช่องว่างให้เราลงไปจัดการอยู่มาก เช่น โจทย์ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมควรจะนำมาให้นิสิต/นักศึกษาใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อการเรียนการสอน หรือนำมาเป็นหัวข้อโครงการวิจัยเพื่อให้นิสิต/นักศึกษาได้ใช้โจทย์วิจัยที่มาจากภาคอุตสาหกรรมจริงๆ ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศเมื่อเทียบกับขนาดของอุตสาหกรรมของเรา ผมว่า PETROMAT ก็เป็นกลไกหนึ่งที่มาช่วยตรงนี้ ผมดีใจนะครับที่มีองค์กรอย่าง PETROMAT ขึ้นมา
PETROMAT: ปัจจุบัน PETROMAT มีโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อสร้างนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกให้กับภาคอุตสาหกรรมจริงๆ ที่ผ่านมาถึงแม้เราจะมีนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกแต่เป็นการวิจัยเชิงลึกทางวิชาการ เมื่อนักวิจัยฯ เหล่านี้ไปทำงานกับภาคอุตสาหกรรมทำให้มีอุปสรรคในการปรับตัวให้เหมาะกับงาน สำหรับโครงการนี้เราจะส่งนักวิจัยฯ ไปทำงานเต็มเวลากับภาคเอกชนเลย โดย PETROMAT จะศึกษาผลตอบรับจากภาคเอกชนและเสริมทักษะต่างๆ ที่จำเป็นนอกเหนือจากการเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักวิจัยฯ พร้อมสำหรับการทำงานกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของประเทศที่ต้องการสร้างนักวิจัยขั้นสูงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับที่บริษัทขนาดใหญ่อย่าง SCG เริ่มมานานแล้ว แต่โครงการนี้จะเปิดโอกาสให้บริษัทระดับ SMEs ให้ความสำคัญในเรื่อง R&D มากยิ่งขึ้น
คุณสุรเชษฐ์: เป็นเรื่องที่ดีครับ ผมว่าความต้องการด้านบุคลากรของภาคอุตสาหกรรมยุคนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมากจาก Digital Disruption หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและวิธีการทำงาน รวมถึงวิธีการทำธุรกิจด้วย ซึ่งตรงนี้ธุรกิจต้องมา Rethink ตัวเองหลายด้าน ทั้งในแง่ของวิธีการทำงาน วิธีการบริหาร ทั้งความสามารถของบุคลากรด้วย ในแง่ของบุคลากรด้านวิศวกรรมเคมีเอง ผมก็คิดว่าปัจจุบันมีความต้องการที่แตกต่างจากในอดีตมาก ต่อไปคนที่จบมา มีความรู้ด้านเดียวอาจจะไม่พอแล้ว ต้องมีความรู้มากกว่าหนึ่งด้านและที่ขาดไม่ได้เลยคือความรู้ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ วันนี้คนเข้ามาทำงานถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้จะตามไม่ทัน วิศวกรเคมีในบริษัทของ SCG ต้องไป Upskill เรื่องพวกนี้ทั้งหมด ทั้ง Data Science และ Data Analytic โดยจะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีด้านนี้และนำเข้ามาประกอบกับการทำงานทางด้านวิศวกรรมเคมีได้ดีมาก ช่วงนี้เป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ผมคิดว่าภาคการศึกษาก็ควรต้องปรับตัวด้วย เพื่อที่จะตอบสนองโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมได้ สร้างบุคลากรที่รองรับการทำงานของภาคอุตสาหกรรมได้
เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศบราซิล ได้ไปคุยกับบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่หนึ่งในบราซิล ได้คุยกับวิศวกรหลายคน รู้สึกว่าวิศวกรของเขาเก่ง เพิ่งจบมามีประสบการณ์ 2-3 ปี แต่มีความรู้มาก สามารถสื่อสารอธิบายงานให้เราเข้าใจได้ง่ายมาก ผมจึงสอบถามเขาว่ามีวิธีการรับคนอย่างไร เขาเล่าให้ฟังว่าทุกวันนี้ที่บราซิลนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จะมาฝึกงานที่บริษัท เขารับนักศึกษาฝึกงานจำนวนมากและให้ทดลองทำงานจริง และคัดเลือกคนจากนักศึกษาฝึกงานเพื่อเข้ามาทำงาน การทำเช่นนี้ทำให้ภาคเอกชนมีโอกาสและมีระยะเวลาประมาณ 1 ปีในการพิจารณานักศึกษา สำหรับนักศึกษาก็ได้เรียนรู้ว่าภาคธุรกิจต้องการบุคลากรแบบไหน ต้องการทักษะอะไร เพื่อที่จะกลับมาเรียนสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการได้ เรื่องสหกิจศึกษานี้ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากจะมาผลักดันในประเทศไทยเหมือนกัน ผมคิดว่าภาคเอกชนพร้อมรับอยู่แล้ว เพราะภาคเอกชนอยากได้บุคลากรที่มีคุณภาพมาเข้าบริษัทอย่างต่อเนื่องตามธุรกิจที่เติบโตขึ้น และทุกวันนี้ต้องบอกว่าธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยไม่ได้เติบโตแค่เพียงในประเทศไทยแล้ว บริษัทขนาดใหญ่มีการลงทุนในต่างประเทศ อย่าง SCG กำลังจะเริ่ม Start Up โครงการปิโตรเคมีโครงการแรกของเวียดนามในต้นปีหน้า เป็นโครงการที่ใหญ่มาก มีการส่งวิศวกรคนไทยไปทำงานที่เวียดนามถึง 200 คน และยังรับวิศวกรจากเวียดนามอีก 700 – 800 คน ซึ่งที่เวียดนามก็มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรเช่นกัน เวียดนามไม่มีอาชีวศึกษา ทำให้ต้องรับบุคลากรระดับปริญญาตรีเข้ามาเป็นพนักงานปฏิบัติการ นอกจากนี้เราก็ต้องทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมของเขาและวิธีคิดของเขาเพื่อที่จะทำงานร่วมกันได้ จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทยเติบโตขึ้นมามาก อย่างผมก็ไม่เชื่อตัวเองเหมือนกัน นับจากวันแรกที่เริ่มจากโรงงานโพลีเอทิลีน 2 โรงงาน Capacity 60,000 ตัน วันนี้เรามี กำลังการผลิตสูงถึง 4 – 5 ล้านตัน ถ้ามองทั้งประเทศต้องบอกว่าอุตสาหกรรมเคมีของเราใหญ่มาก ใหญ่ว่าประเทศไหนๆ ในอาเซียน กำลังการผลิตของประเทศขึ้นมาอันดับ 16 ของโลกด้วย กำลังการผลิตสูงถึง 32 ล้านตัน ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กำลังการผลิตวัตถุดิบหลักอย่างเช่น เอทิลีน ของเราก็อยู่ที่ 10 ของโลกซึ่งสูงกว่าหลายๆ ประเทศที่ใหญ่กว่าเราด้วยนะครับ เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศวันนี้ มีส่วนใน GDP ของประเทศมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี
PETROMAT: น่าเสียดายว่าเด็กรุ่นใหม่ยังไม่ได้รับข้อมูลตรงนี้ ทำให้ไม่ทราบว่าเรียนวิศวกรรมเคมีแล้วจะก้าวหน้าอย่างไร มีเส้นทางอาชีพอย่างไร ส่งผลให้ปัจจุบันเด็กที่จะเข้ามาเรียนวิศวกรรมเคมีรวมถึงสาขาอื่นๆ ด้านวิทยาศาสตร์มีจำนวนลดลงไปอย่างมาก ปัญหานี้ คุณสุรเชษฐ์มีมุมมองอย่างไร และจะทำอย่างไรให้เด็กยุคใหม่หันกลับมาสนใจสาขาวิชาเหล่านี้
คุณสุรเชษฐ์: เรื่องนี้ก็เป็นความท้าทายเรื่องหนึ่งเลยนะครับ รวมถึงภาคธุรกิจด้วย ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะมีบุคลากรเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ทาง TIChE ก็พยายามทำเรื่องนี้ด้วยส่วนหนึ่ง โดยการไปส่งเสริมนักเรียนมัธยมให้มีความเข้าใจว่าวิศวกรเคมีทำงานอะไร เราทำการจัดค่ายให้กับนักเรียนมัธยมให้มีความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ผมได้มีโอกาสรับทราบจาก ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง CEO ของ PTTGC ว่าตอนนี้ GC จะมีการเปิดพิพิธภัณฑ์ด้านปิโตรเคมีขึ้นที่ระยอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นอะไรที่น่าจะมีประโยชน์ที่จะให้เด็กๆ นักศึกษามาเยี่ยมชมและมีความเข้าใจว่าอุตสาหกรรมเคมีคืออะไร มีความสำคัญต่อชีวิตของเขาและความเจริญของประเทศอย่างไร
PETROMAT: ตามกระแสของโลกตอนนี้และอาจจะเป็นเรื่องเร่งด่วนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศเราด้วย เรื่อง Net Zero และ Carbon Credit ทาง TIChE จะมีบทบาทอย่างไรบ้าง
คุณสุรเชษฐ์: ผมคิดว่าเรื่องกระแสของโลกตอนนี้ ทุกคนพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเติบโตเร็วมาก ซึ่งมาจากการใช้ทรัพยากรจำนวนมากด้วย ดังนั้น จะต้องทำอย่างไรให้การเจริญเติบโตนี้ยังเติบโตได้และเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง อันนี้ผมคิดว่าคือความท้าทาย เพราะถ้าเราไม่สามารถทำเรื่องนี้ให้ดีได้ อุตสาหกรรมหรือธุรกิจจะเดินไปต่ออย่างยั่งยืนได้ลำบาก เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเรื่องของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว ประเทศไทยประกาศนโยบายที่จะเป็น Net Zero แล้ว เรื่องการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ที่เรียกว่า Circular Economy ก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ภาคอุตสาหกรรมของไทยก็มีการประกาศนโยบายในเรื่องนี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่าอุตสาหกรรมเคมีของไทยล้ำหน้าภาครัฐอยู่มาก ในขณะที่ภาครัฐยังไม่ได้ออกกฎหมายอะไร ภาคอุตสาหกรรมก็เดินหน้าไปก่อนแล้ว ถ้าไปเทียบกับยุโรปหรืออังกฤษ เขามีการกำหนดชัดเจนแล้วว่าวัสดุที่จะมาทำบรรจุภัณฑ์ต้องมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลไม่ต่ำกว่าร้อยละเท่าไหร่ อย่างประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายขนาดนั้น แต่เราก็เริ่มที่จะมีกฎหมายที่จะห้ามพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) ซึ่งจะช่วยลดปัญหา ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนผลักดันให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เกิดการหมุนเวียน เกิดการรีไซเคิลได้จริง ต้องบอกว่าประเทศไทยมีความท้าทายมากครับ เพราะว่าเรื่องของเสียจะมาทำรีไซเคิลต้องทำเรื่องการจัดเก็บ การแยกประเภทขยะอีกมาก เราอยู่ในวงการเคมี เราจะทราบดีว่ากระบวนการเคมีไม่ใช่ว่าเอาอะไรใส่ลงไปแล้วจะได้สิ่งที่ดีทุกอย่าง เรานำขยะที่ไม่ถูกประเภทไปเข้ากระบวนการก็ไม่เกิดประโยชน์ ผมคิดว่าเราต้องปรับเปลี่ยนทั้งระบบ ที่ประเทศไทยวัตถุดิบจะถูกฝังกลบในดินเกือบทั้งหมด มีการปนเปื้อน อาจจะเป็นความท้าทายของนักวิจัยไทยด้วยก็ได้ว่าจะนำขยะที่ฝังอยู่ในดินกลับมาใช้ได้อย่างไร
PETROMAT: ใช่ครับ กำหนดจัดงาน วันที่ 29 พฤศจิกายน จนถึง วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยในงานจะนำเสนอเกี่ยวกับ Recycling, Waste Management, BCG Economy, Net Zero เป็นต้น พร้อมกับการบรรยายโดย Keynote Speakers ผู้มีชื่อเสียงในวงการวิชาการจากทั้งในและต่างประเทศ อาทิ คุณณัฐนันท์ ศิริรักษ์ จาก PTTGC ดร.อัตตพงษ์ ธิราศักดิ์ จาก SCGC ศ. ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ จากจุฬาฯ สำหรับทางญี่ปุ่นมี Professor Tohru Kamo, Professor Hisayuki Nakatani และ Prof. Kotohiro Nomura รวมถึงนักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่นมากมาย นอกจากนี้เพื่อตามกระแสรักษ์โลก เราได้จัดงานในแบบ “Carbon Neutral Event” โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มมิตรผล
ขอขอบคุณ คุณสุรเชษฐ์ ชโลธร ที่ให้เกียรติในการให้สัมภาษณ์ลงคอลัมน์ Interview ใน PETROMAT Today Online โดย PETROMAT จะนำข้อมูลและแนวทางที่ได้ได้รับจากการสัมภาษณ์มาพัฒนางานด้านการสร้างกำลังคนระดับสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสมัยใหม่ รวมถึงถ้าทาง TIChE มีงานหรือกิจกรรมอะไรที่ทาง PETROMAT สามารถมีส่วนร่วมหรือช่วยสนับสนุนได้ PETROMAT ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง