การผลักดันงานวิจัยสู่โลกการผลิตด้วยแนวทางของ R V Connex (ตอนที่ 2)

เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล

จากบทสัมภาษณ์ตอนที่แล้ว (บทสัมภาษณ์ ตอนที่ 1) คุณพีรพล ตระกูลช่าง Managing Director/Manufacturing Director และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ VP Innovation R&D บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ได้แนะนำให้รู้จัก R V Connex ว่าเกิดจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จนมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี 4 ด้าน คือ Security, Platform, Software และ Space ซึ่งในบทสัมภาษณ์ตอนนี้ จะเจาะลึกถึงปัจจัยที่ช่วยผลักดันงานวิจัยสู่โลกการผลิตและประสบการณ์การทำงานต่างๆ ผ่านผลิตภัณฑ์ของ R V Connex

PETROMAT : งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐในปัจจุบัน นอกจากจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม S-curve อุตสาหกรรม New S-curve และ เศรษฐกิจ BCG แล้ว ยังมุ่งเน้นด้านการวิจัยและเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (Frontier Technology) เพิ่มเติมด้วย เช่น ระบบโลกและอวกาศ (Earth Space) และ จักรวาลนฤมิต (AI Metaverse) ซึ่งน่าจะตรงกับงานของ R V Connex 

รศ. ดร.สุเจตน์: ในเรื่อง Earth Space ผมสามารถให้คำปรึกษาได้ เพราะผมเป็นกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติอยู่ 8 ปี มีส่วนในการปฏิรูปกฎหมายอวกาศ ในประเทศไทยมี 2 หน่วยงานที่น่าจะมีเสถียรภาพ หนึ่งคือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เนื่องจากมีความพร้อมด้านจำนวนบุคลากร แต่ว่า GISTDA ไม่ได้ทำตั้งแต่เริ่มต้น ตอนที่ทำดาวเทียม THEOS-1 ตั้งใจจะทำเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่มีการเปลี่ยนแปลงแผนในตอนหลัง สำหรับดาวเทียม THEOS-2 ได้วางแผนแบบเดิม อย่างที่เราอยากจะทำ คือทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยตามแผนเราจะส่งคนไปร่วมออกแบบที่ประเทศฝรั่งเศสและสร้างดาวเทียมขนาดเล็กที่ประเทศไทย แต่สุดท้ายทีมที่จะไปฝรั่งเศสก็ไม่มีคนไป การสร้างดาวเทียมในประเทศไทยก็ย้ายไปสร้างที่อังกฤษ ส่วนหนึ่งที่จะนำมาประกอบที่ศรีราชาเพื่อทดสอบก็ไม่ได้ทำ

อีกหน่วยงานคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งได้ทำดาวเทียมไทพัฒตั้งแต่ต้น สามารถออกแบบทางวิศวกรรมเองได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างความร่วมมือกับกองทัพอากาศ R V Connex และบริษัทจากประเทศเกาหลีในการสร้างดาวเทียม ดังนั้นที่นี่มีพร้อมในหลายบทบาท แต่จากการทำดาวเทียมไทพัฒ-2 พบว่ามหาวิทยาลัยเอกชนนั้น มีงบประมาณและบุคลากรไม่เพียงพอ รัฐบาลควรจะสนับสนุนตรงนี้ เพราะถ้ามองไปถึงอนาคตเอกชนจะไม่ได้หยุดแค่นั้น การสร้างผลิตภัณฑ์จะต้องมีเทคโนโลยีรองรับ รู้ถึงเทคโนโลยีที่ขาด มีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ มาช่วยกันทำงาน อย่างเรือรบของไทยที่ประกอบจากประเทศจีน R V Connex สามารถนำมา Upgrade โดยติดตั้งจรวดของประเทศอเมริกาและใช้เรดาห์ของประเทศสวีเดน

คุณพีรพล: เป้าหมายของผู้บริหารบริษัทฯ คืออยากให้มองว่ามันคือ National Resource ไม่อยากให้แบ่งแยกว่าเป็นข้าราชการ เป็นเอกชน เป็นอาจารย์ เป็นนักธุรกิจ และผูกขาดความรักชาติเอาไว้กับคนที่เป็นทหาร เราไม่อยากให้มองอย่างนั้น เราอยากให้มองว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน แต่ละคนมีขีดความสามารถอะไร เราเอามารวมกัน เพราะเราควรจะแข่งกับต่างชาติ ไม่ใช่มาแข่งกันเอง อะไรคือวัตถุประสงค์ของการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ผมว่าเราต้องช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไร เราจะใช้ประโยชน์จากบุคลากรและองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นภายในประเทศ เราต้องช่วยกันสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

PETROMAT : R V Connex ได้รับประโยชน์อะไรจากนโยบายภาครัฐบ้าง

คุณพีรพล:

จากเทคโนโลยีหลักทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมา ทำให้เราได้รับการส่งเสริมจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment, BOI) ดังนี้

1) การพัฒนา Software ที่มีมูลค่าสูง

2) กิจการที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานและอากาศยานไร้คนขับ

3) การผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศและระบบปฏิบัติการเกี่ยวกับอวกาศ

4) Big Data, Data Analysis, Digit Analysis และอัลกอริทึมเบื้องหลัง

จะเห็นว่าเราไม่เหมือนกับบัตร BOI ที่ธุรกิจทั่วไปได้รับ ที่นำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศมาผลิตเป็นชิ้นงานจำนวนมากๆ ซึ่งทั้ง 4 บัตรที่เราได้ แทบจะไม่สามารถจับต้องเป็นชิ้นงาน วัดกันที่จำนวนผลิต และไปขอยกเว้นภาษี การที่จะได้บัตรทั้ง 4 มา ผมต้องเข้าไปนำเสนอหลายรอบ ซึ่ง BOI ก็ไม่คุ้นเคยกับธุรกิจแบบนี้ ประเทศไทยภูมิใจมากกับการเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” แต่สมรรถนะหลัก (Core Competency) ของไทยนั้นไม่มีเลย เรารับจ้างผลิตโดยแทบจะไม่มีความสามารถในการออกแบบ การที่ส่งเสริมเฉพาะกระบวนการผลิต ถ้ามองในแง่ของผลิตภัณฑ์ ประเทศไทยได้ประโยชน์เพียงร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์ แต่อีกร้อยละ 97 มันเกิดขึ้นจากงานออกแบบ สุดท้าย BOI ก็เข้าใจ

มีอีกหนึ่งแคมเปญที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลังและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นความตั้งใจที่ดีแต่ว่าทางภาครัฐอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าที่ควร โดยพยายามที่จะออกการรับรองให้อะไรก็ตามที่ภาคเอกชนทำและเป็นผลผลิตจากมันสมองของคนไทยควรจะได้รับการรับรองในระดับสากล แคมเปญนี้ชื่อว่า Made in Thailand (MIT) โดยมีข้อกำหนดว่า ถ้าคุณอยากจะได้หนังสือรับรอง MIT เงื่อนไขคืออะไร จะต้องมีชิ้นงานที่เป็นการผลิตหรือออกแบบในประเทศไทยจำนวนเท่าไหร่ เราเองก็ส่งผลิตภัณฑ์เข้าไปตรวจสอบและได้รับหนังสือรับรอง MIT ประมาณ 60 รายการ และได้รับหนังสือรับรองมาแล้วจำนวน 47 รายการ อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบอีกเกือบ 20 รายการ

PETROMAT : อยากให้ R V Connex พูดถึงเรื่องมาตรฐานการผลิต สิ่งนี้มีส่วนผลักดันให้งานวิจัยเข้าสู่โลกการผลิตได้อย่างไร

คุณพีรพล: เวลาที่เราพูดถึงการที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับมาตรฐานสากล แน่นอนว่าเราจะต้องนำกระบวนการที่โลกสากลยอมรับมาใช้ บริษัทเองก็ให้ความสำคัญกับมาตรฐานคุณภาพ (Quality Standard) ทั้งในด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม (Industrial Standard) มาตรฐานทางการค้า (Commercial Standard) และมาตรฐานทางทหาร (Military Standard) ในด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมจะเป็น ISO ต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น ISO9001 ใช้สำหรับงาน Service Support ของบริษัท งานด้าน Cyber Security จะใช้ ISO27001 งานด้านการออกแบบและการผลิต เราจับมาตรฐานที่สูงมากคือมาตรฐาน Aviation Standard หมายเลข AS9100 ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้ Quality Standard สูงขนาดนี้ เราก็ยังคงใช้กระบวนการเดียวกันเพื่อที่จะไม่ต้องบริหารจัดการ Quality Standard หลายตัวพร้อมกัน จึงใช้มาตรฐานที่สูงที่สุดคือ Aviation Standard ซึ่งใช้รับรองในเรื่องการผลิตเกือบจะทั้งบริษัทเลย

ถ้าเรามองย้อนกลับไปถึงจุดตั้งต้นที่เราต้องการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและนำมาสร้างผลิตภัณฑ์ในประเทศ กระบวนการเหล่านี้จะต้องการข้อมูลจำนวนหนึ่งที่มาจากขั้นตอนของงานวิจัย โดยจากที่ผมได้สัมผัสมา นักวิจัยของประเทศเราจะคุ้นเคยกับการทำงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ผลงาน แต่เนื้อหาในผลงานตีพิมพ์ที่ต้องการใช้เพื่อการพาณิชย์จะถูกละเลย หรือไม่ได้ให้ความสำคัญจริงจัง อาจจะเป็นเพราะว่านักวิจัยไม่ได้เข้าใจว่าเมื่อจะผลิตสินค้าจะต้องทำอย่างไร เราจึงมีงานวิจัยที่เข้าถึงการผลิตไม่ได้เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ดังนั้น วิธีคิดของเราก็คือว่า กระบวนการเหล่านี้คือกระบวนการที่จะการันตีโลกการผลิต จึงต้องนำกระบวนการเหล่านี้เข้ามาให้ความรู้แก่นักวิจัยตั้งแต่แรก ถ้าคุณจะทำงานวิจัยและจะให้จบลงด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ ในขั้นตอนวิจัยของคุณจะต้องทำอะไรบ้าง Quality Assurance ต้องทำอะไร Configuration Management ต้องทำอะไร เพื่อให้แน่ใจว่าจะเข้าสู่ตลาดได้ ตรงนี้คือตัวชี้วัดว่าจะเกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือไม่

ที่ผ่านมาเราจึงใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่บริหารคุณภาพ (Quality Management, QM) ไปฝึกอบรมให้นักวิจัยของแต่ละโครงการก่อน โดยจะมี Template ให้นักวิจัยกรอกข้อมูลเพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อโครงการมาถึงจุดหนึ่งแล้ว สามารถนำผลงานไปใช้ต่อได้ ไม่อย่างนั้นเราจะต้องกลับไปเริ่มทำใหม่

รศ. ดร.สุเจตน์: ที่พูดถึงความร่วมมือในการวิจัยด้าน Space หรือดาวเทียม มาตรฐาน AS9100 มีความสำคัญมาก เพราะการไปเจรจากับผู้สนับสนุนจะต้องให้ความมั่นใจว่าดาวเทียมที่เราสร้างขึ้นจะไม่ไปกระทบดาวเทียมดวงอื่นและสามารถใช้งานได้ตามอายุการใช้งาน นี่ก็เป็นเหตุผลที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครร่วมมือกับทาง R V Connex เมื่อมหาวิทยาลัยฯ ออกแบบแล้วส่งให้ทางบริษัทฯ ผลิตได้ตามมาตรฐาน จะสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานได้จริง

ที่ผ่านมาเราจึงใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่บริหารคุณภาพ (Quality Management, QM) ไปฝึกอบรมให้นักวิจัยของแต่ละโครงการก่อน โดยจะมี Template ให้นักวิจัยกรอกข้อมูลเพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อโครงการมาถึงจุดหนึ่งแล้ว สามารถนำผลงานไปใช้ต่อได้ ไม่อย่างนั้นเราจะต้องกลับไปเริ่มทำใหม่

คุณพีรพล: ส่วนของการพัฒนา Software เราได้รับการรับรองตามมาตรฐาน CMMI Level 3 และกำลังเลื่อนระดับไปที่ Level 4 สำหรับ Level 3 ในประเทศไทยน่าจะมีไม่เกิน 20 บริษัท
ในส่วนของมาตรฐานอื่นๆ เนื่องจากเราทำงานในด้าน Platform การป้องกันประเทศ ทำให้เราจะต้องเข้าถึงมาตรฐานทางทหารหลายตัว ซึ่งต้องบอกว่าเมื่อเราลงลึกในรายละเอียดจะพบว่ามาตรฐานทางทหารจะมีการรวมมาตรฐานอุตสาหกรรมอยู่ แต่มีการปรับเพื่อให้เหมาะสมตามการใช้งานในสภาพแวดล้อมต่างๆ ดังนั้น การที่เราเริ่มต้นจากการผลิตเพื่อการค้าทำให้เราเข้าใจมาตรฐานทางทหารได้ง่ายขึ้น ซึ่งหลายเรื่องสามารถนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมเรื่องที่ไม่ใช่ทางทหารได้ด้วย ยกตัวอย่างเรื่อง Human Engineering Design ซึ่งถูกหยิบยกมาใช้เป็นมาตรฐานในหลายผลิตภัณฑ์ทางการค้า เช่น การหมุนปุ่มไปทางขวาแล้วเป็นบวก ถ้าเราหมุนขวาแล้วเป็นลบจะรู้สึกอึดอัด สิ่งที่อันตรายจะต้องมีสีแดง ถ้าอันตรายแล้วเป็นสีเขียวจะไม่ใช่ เวลาที่นักบินควบคุมระบบเครื่องบินไร้คนขับ บางครั้งนักบินจะไม่ได้ละสายตาจากหน้าจอ เวลาเอื้อมมือไปจับปุ่มบังคับ อาจจะมีถึง 20 ปุ่ม จับแล้วต้องรู้ว่าปุ่มอะไร ไม่ใช่ว่าจะเพิ่มความเร็วกลายเป็นลดความเร็วหรือเปลี่ยนความสูง แบบนี้ไม่ได้ พวกนี้เป็นข้อควรระวังในการออกแบบทั้งหมด ถามว่าไม่ทำได้ไหม ก็คงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ แต่มันใช้งานจริงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือ Library ประสบการณ์ ซึ่งบางอย่างก็เรียนรู้มาด้วยความเจ็บปวด แต่ว่าเราก็ได้สั่งสมสิ่งเหล่านี้เอาไว้ เป็นมาตรฐานทั้งหลาย
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งคนไทยไม่ให้ความสำคัญกับมันเอาซะเลย คือเรื่อง Test & Evaluation ทำผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วไปทดสอบตามใจตัวเอง รู้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวเองทำอะไรได้ ตั้งโจทย์หลอกตัวเองว่ามันผ่านการทดสอบ โดยไม่ได้จับวิธีที่เป็นมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯทดสอบตามมาตรฐานที่เรียกว่า RTCA DO-160 และ DO-178 โดย DO-160 จะเป็นการทดสอบในเชิงของ Hardware ผลิตภัณฑ์จะถูกทดสอบ Vibration Test, Shock Test, Temperature Cycling, EMC Analysis เป็นต้น ส่วน Software ต้องทดสอบมาตรฐาน DO-178 เพื่อที่จะให้เกิดความมั่นใจว่าเครื่องบินของผมขึ้นบินแล้วหน้าจอไม่ผิดปกติ ที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัยและหน่วยงารภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบทดลองมาตรฐานต่างๆ

PETROMAT : มีมาตรฐานเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมากแบบนี้ ทำไม R V Connex ไม่จ้างบริษัทอื่นให้ผลิตชิ้นงานบางส่วนจะได้ลดจำนวนมาตรฐานที่ต้องดูแลลงไปได้

คุณพีรพล: ตามที่เรียนฯ เราเริ่มต้นจากงานออกแบบก่อน จากนั้นจึงไปวิ่งหาผู้ผลิต โดยเข้าใจเอาเองว่างานของเราเป็นสิ่งที่คนทั่วไปอยากจะทำ แต่ด้วยมาตรฐานที่สูงและจำนวนการผลิตที่น้อยจึงไม่สามารถหาผู้ผลิตรับงานได้ สุดท้ายบริษัทจึงต้องพยายามสร้างขีดความสามารถในกระบวนการผลิตของตัวเอง โดยมีหลักการในการเลือกเครื่องมือที่เหมาะกับงาน Low Volume Production และ High Precision ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำเทคโนโลยีการสร้างต้นแบบรวดเร็ว (Rapid Prototyping) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในงานวิจัยต้นแบบได้ดี โดย Workshop ของบริษัทมีอุปกรณ์ครบถ้วนเทียบได้กับอุตสาหกรรมใหญ่ ยกตัวอย่างบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มาตั้งฐานผลิตในไทย วันหนึ่งอาจจะผลิตได้ 3,000 ชิ้น แต่บริษัทผม 1 สัปดาห์อาจจะผลิตได้ 2 ชิ้น แต่คุณภาพเท่ากัน Precision เท่ากัน มาตรฐานสูสีกัน แต่จำนวนการผลิตไม่เท่ากัน
สำหรับ Software Tool ในเรื่องการออกแบบทางกลศาสตร์ เราใช้เครื่องมือ (Tool) ที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรม ทำให้เวลาที่เราทำงานร่วมกับบริษัทในต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันจะทำได้ง่ายและการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมทำให้ได้รับการยอมรับ

PETROMAT : ยกตัวอย่างงานที่ผ่านมา ที่ R V Connex คิดว่าเป็นงานที่ท้าทาย

คุณพีรพล: งานบางส่วนในอดีตที่เราออกแบบ เช่น ห้องนักบินของเครื่องบินรบ ที่จริงเครื่องบินอายุ 50 กว่าปีแล้ว เป็นเครื่องบินที่ล้าสมัยในปัจจุบัน แต่หลังจากที่เราปรับปรุงแล้ว ทำให้เครื่องบินมีขีดความสามารถใกล้เคียงกับการซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ด้วยงบประมาณต่างกัน 10 เท่า เราเก็บเอาไว้เพียงตัวถังเครื่องบินและเครื่องยนต์ ส่วนที่เหลือเรารื้อทิ้งและออกแบบใหม่หมด ทั้งระบบอาวุธ คอมพิวเตอร์ มาตรวัดการบิน รวมถึงสายไฟเป็นของใหม่ทั้งหมด ซึ่งการปรับปรุงเครื่องบินลำหนึ่งเราต้องออกแบบชิ้นส่วนที่เป็นเครื่องกลประมาณ 300 – 400 ชิ้น บางชิ้นสำหรับเครื่องบินหนึ่งลำใช้เพียงชิ้นเดียว ซึ่งก็คือโลกความเป็นจริงที่ผมบอกว่าไม่มีผู้ผลิตรับงาน
นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบแท่นฐานของเรดาร์ที่อยู่บนเรือซึ่งมีข้อกำหนดเฉพาะแปลกๆ คือแท่นฐานเรดาร์มีน้ำหนักหลายตัน ในการทำงานจะหมุนเร็วมาก แต่เวลาเจอเป้าหมายแล้วจะหยุดทันที ถ้าแท่นฐานไม่มีความแข็งแรงจะฉีกขาด ในขณะที่ใช้เหล็กหนามากๆ น้ำหนักมาก จะทำให้ศูนย์ถ่วงของเรือเพี้ยนไป ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดี จึงต้องออกแบบให้แข็งแรงแต่น้ำหนักเบา แต่นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยมาใหม่จะไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ จะออกแบบโดยใส่เหล็กหนาๆ เพิ่มเข้าไป นี่คือโลกของความเป็นจริง การที่เราให้เด็กมาฝึกงานเพื่อเรียนรู้โครงการเหล่านี้ จะทำให้เด็กฝึกงานเข้าใจโลกความเป็นจริงด้วย

PETROMAT : เครื่องมือระดับสูงที่ R V Connex ลงทุนไปจำนวนมาก และตั้งใจจะให้เป็น National Resource มีอะไรบ้างครับ

คุณพีรพล: นอกจากเครื่องมือในการออกแบบที่กล่าวมาแล้ว จะต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตด้วย ซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษและต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะพิเศษ งานขึ้นรูปของบริษัทจะมีงานขึ้นรูปจากโลหะที่เป็นแผ่นที่เรียกว่า Sheet Metal แต่เนื่องจากงานของเราเป็นลักษณะ Low Volume จึงต้องพึ่งพาทักษะฝีมือจากกำลังคนค่อนข้างสูง บุคลากรที่เราสร้างขึ้นมาจึงเป็นบุคลากรที่มีค่าตัวสูงในอุตสาหกรรม ซึ่งระดับการศึกษาที่สูงมีความสำคัญ แต่เราต้องการบุคลากรที่มีความอดทนในการฝึกฝนมากกว่า Workshop เหล่านี้กว่าจะได้บุคลากร 1 คน ต้องมีเวลาฝึกฝน 4 ปี เพื่อต้องการที่จะแน่ใจว่าเขาสามารถผลิตชิ้นงานที่เป็น Freeform ออกมา 20 ชิ้น ได้เหมือนกันทุกชิ้นโดยไม่มีเครื่องจักร นอกจากนี้โรงงานของเราสามารถเปลี่ยนคุณสมบัติเชิงกลของอลูมิเนียมได้ เนื่องจากอลูมิเนียมที่จะมาขึ้นรูปถ้าแข็งแล้วจะเปราะ เราจะต้องขึ้นรูปในขณะที่อลูมิเนียมยังนิ่มอยู่ โดยการผ่านกรรมวิธีทางความร้อน (Heat Treatment) ซึ่งเรามีตู้อบที่ผ่านการรับรองอยู่ และมีเพียง 2 ที่ในประเทศไทย เรามีเครื่องกัด (Machining Center) สำหรับขึ้นรูปโลหะเป็นก้อนและนำมากัดกลึง เรามีเครื่องมือที่เป็น High Precision ซึ่งสามารถนำมาใช้สร้างผลิตภัณฑ์ด้านเคมีด้วย เช่น เมมเบรน (Membrane) เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat exchangers) เป็นต้น

สำหรับการตรวจสอบว่าการผลิตของเรามีความแม่นยำมากแค่ไหน เราใช้เครื่อง CMM ที่มีความแม่นยำ (Accuracy) 2.5 ไมครอน ในการตรวจ ชิ้นงานสำหรับเครื่องบินจะใช้ความแม่นยำที่ 20 – 50 ไมครอน ถ้าเป็นรถยนต์ความแม่นยำจะอยู่ที่ 500 – 1000 ไมครอน เราใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ในการสร้างต้นแบบรวดเร็ว (Rapid Prototyping) ซึ่งเราสามารถพิมพ์ Carbon Fiber ได้ด้วย
การผลิตชิ้นส่วนของวัสดุผสมหรือวัสดุคอมโพสิต (Composite Materials) เราครอบครองเครื่องมือและองค์ความรู้ในการผลิตวัสดุคอมโพสิตแบบ Prepreg เรามีตู้อบ (Autoclave Oven) ที่มีความสามารถในการผลิตชิ้นงานที่ความยาว 8 เมตร ซึ่งตู้อบของเราเปิดให้เอกชนเข้ามาใช้งานได้

เราเป็นศูนย์ซ่อมระบบสื่อสารที่อยู่บนเครื่องบินหรือเรือรบซึ่งได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตในประเทศเยอรมนี และบุคลากรของศูนย์ซ่อมก็ได้รับมาตรฐาน IPC ด้วย
เราเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle, UAV) ซึ่งได้รับรองมาตรฐาน ISO9001 ที่มีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย เครื่องยนต์ของ UAV ที่อยู่ในกองทัพอากาศทุกเครื่องถูกส่งมาซ่อมบำรุงขั้นโรงงานที่นี่ เราออกแบบระบบ Unmanned เข้าประจำอยู่ในกองทัพอากาศ หลังจากเครื่องบินลำนี้ไปประจำการก็มีความต้องการกลับมาให้เครื่องบินลำนี้ใช้ระบบอาวุธได้ด้วย นี่ก็เป็นบางส่วนของงานที่เราทำ เรื่องของการออกแบบอาวุธ การติดตั้งเซ็นเซอร์ ปืน เรดาห์ อะไรพวกนี้ครับ

PETROMAT : สุดท้ายนี้ คุณพีรพลอยากฝากอะไรถึงน้องๆ นักวิจัยรุ่นใหม่บ้าง

คุณพีรพล: โดยส่วนตัวผมก็เป็นห่วงเด็กรุ่นใหม่ๆ พอผมได้มีโอกาสใกล้ชิดอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมได้ยินมาว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจความรู้ด้านพื้นฐาน (Fundamental) การที่เราจะแข่งขันกับต่างประเทศแล้วพื้นฐานไม่แน่นหรือพื้นฐานไม่ถูกต้อง ผมว่ามันจะยิ่งแย่ลง ที่ผมทำทั้งหมด ผมพยายามจะบอกน้องๆ ว่า Fundamental เป็นเรื่องสำคัญและการสร้างรากฐาน (Foundation) จะเป็นตัวที่กำหนดอนาคต แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา พอต้องใช้เวลาคนไทยจะไม่สนใจ อยากได้อะไรที่มันเร็วๆ

ขอขอบคุณ คุณพีรพล ตระกูลช่าง และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ ที่ให้เกียรติในการให้สัมภาษณ์ลงคอลัมน์ Interview ใน PETROMAT Today Online ไว้ ณ ที่นี้ ตลอดการสัมภาษณ์และการเข้าเยี่ยมชม R V Connex ทำให้ PETROMAT ทราบว่ายังมีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ยังคงมุ่งมั่นในการยกระดับเทคโนโลยีของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะให้การสนับสนุนเพื่อสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ที่มีฝีไม้ลายมือทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว นอกจากนี้คำแนะนำในเรื่องการออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานจริงๆ และมาตรฐานการผลิตต่างๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้งานวิจัยที่มีอยู่มากมายในประเทศสามารถนำไปต่อยอดเข้าสู่โลกของการผลิตได้

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th