การผลักดันงานวิจัยสู่โลกการผลิตด้วยแนวทางของ R V Connex (ตอนที่ 1)

เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล

ถ้าได้ติดตามข่าวสงครามในปัจจุบัน อาวุธยุคใหม่ที่ถูกนำเข้ามาใช้งานมากขึ้นคืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle, UAV) หรือโดรน (Drone) ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด ไม่ต่างจากที่เคยเห็นในภาพยนตร์ฮอลลีวูด สำหรับประเทศไทยเองก็มีการใช้งานโดรนอย่างแพร่หลายทั้งเป็นเครื่องเล่น ใช้ในการถ่ายภาพ ใช้ในการเกษตร เป็นต้น แต่ถ้าพูดถึงการใช้โดรนเพื่อการรบแล้ว ดูเหมือนจะเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ห่างไกลจากประเทศไทยมาก อาจจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศและต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาฝึกสอนนักบินเพื่อใช้งาน แต่ทราบหรือไม่ว่าอากาศยานไร้คนขับเพื่อการรบมีประจำที่กองทัพอากาศไทยเช่นกัน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด (R V Connex) ที่เป็นบริษัทของคนไทย 100%

PETROMAT มีโอกาสร่วมมือกับ R V Connex ในการส่งนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกอุตสาหกรรมไปทำโครงการวิจัยเรื่องการฟื้นสภาพแบตเตอรี่และการปรับสภาพชิ้นส่วนอากาศยานให้ทนต่อการกัดกร่อน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ในครั้งนี้ PETROMAT ได้รับเกียรติในการเข้าสัมภาษณ์อย่างเป็นกันเองจากคุณพีรพล ตระกูลช่าง Managing Director/Manufacturing Director และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ VP Innovation R&D บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีของกองทัพไทยในหลายๆ มิติ และทั้ง 2 ท่านได้มาบอกกล่าวที่มาของความสำเร็จให้พวกเราเรียนรู้
• บริษัทด้านเทคโนโลยีการบินของคนไทย
• มาตรฐานการผลิตมีความสำคัญอย่างไร
• การนำงานวิจัยเข้าสู่โลกการผลิต

บทสัมภาษณ์

PETROMAT : R V Connex คือใคร?

คุณพีรพล: บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด (R V Connex) เกิดจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense) แต่เมื่อเรามีองค์ความรู้ด้านการป้องการประเทศแล้ว เราได้พัฒนาความรู้มาสู่โลกที่เป็น Non-Defense ด้วย เราเป็นบริษัทคนไทย 100% มีทุนจดทะเบียนชำระเต็มจำนวน 800 ล้านบาท มีพนักงานกว่า 400 คน ซึ่งเป็นวิศวกรและช่างเทคนิคประมาณ 300 คน ซึ่งตัวเลขวิศวกรคิดเป็นร้อยละ 60 – 70 ของหน่วยงาน สามารถบอกได้ว่าเราทำอะไรอยู่ที่นี่บ้าง ถ้าพูดง่ายๆ คือเรารับความต้องการของลูกค้า (Requirement) มาวิเคราะห์แยกแยะ (Digest) ทำ Conceptual Design ทำ Analysis ทำ Prototyping และ Transfer มาสู่โลกการผลิต นั่นคือในแง่ของการวิจัย เราทำการออกแบบและสร้างชิ้นงานต้นแบบเพื่อที่จะทำการทดสอบและทดลอง รวมถึงปรับปรุงแก้ไข (Modify) ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นถูกต้องตามหลักการหรือไม่ ซึ่งขึ้นกับโครงการที่ทำว่ากระบวนการ Modify จะต้องทำอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเครื่องบินจะมีศาสตร์เฉพาะในการ Modify เมื่อเราจบสร้างต้นแบบ (Prototyping) ได้รับการ Modify ว่าผลิตภัณฑ์นั้นถูกต้องแล้ว จะเป็นโลกของการผลิต จะต้องปรับจาก Design for Prototyping เป็น Design for Manufacturing ซึ่งมีศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน และเรามีประสบการณ์ในการทำสิ่งเหล่านั้น เพราะว่าเราสร้างผลิตภัณฑ์แบบนี้มาเรื่อยๆ และเข้าสู่สายการผลิต หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของการทำซ้ำ (Repetition) การรักษาประสิทธิภาพ (Configuration Management, CM) และการควบคุมคุณภาพ (Quality Assurance, QA) ต้องพร้อมที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ เพราะการทำชิ้นงานต้นแบบยังไม่สามารถเข้าสู่สายการผลิตได้ จากนั้นเป็นเรื่องของการบริการหลังการขาย การสร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงเรื่องของการฝึกอบรม เราทำตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ แต่วัตถุประสงค์สำคัญก็คือ เราจำเป็นจะต้องทำจนเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้เพราะเราเป็นองค์กรทางด้านธุรกิจ “สิ่งที่บริษัทด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของประเทศไทยพยายามที่จะทำคือการทำให้เงินที่เคยจ่ายออกไปนอกประเทศให้ผันกลับเข้ามาในประเทศ รวมถึงการที่จะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการได้รับโอกาสดังกล่าว”

PETROMAT : งานของ R V Connex กับ Thailand 4.0

คุณพีรพล: ในมุมมองของภาครัฐ เราจะอยู่กลุ่มธุรกิจ 30300 การผลิตอากาศยาน ยานอวกาศ และเครื่องจักรที่เกี่ยวข้อง เพราะว่างานด้าน Defense ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจของกรมทะเบียนการค้า จากการที่เราเกิดจากงาน Defense ทำให้ต้องอิงกับนโยบายภาครัฐค่อนข้างมาก ปัจจุบันนโยบายภาครัฐที่บริษัทยึดถือคือ Thailand 4.0 ซึ่งได้กำหนดตัวชี้วัดด้าน S-curve ที่สำคัญ กิจกกรมของ R V Connex จะตรงกับ 4 S-curve ดังนี้
S-curve ที่ 8 Aviation & Logistics เป็นเรื่องที่ R V Connex กำลังทำในปัจจุบัน
S-curve ที่ 10 Promote Digital Industry เป็นเรื่องของการเปลี่ยนกระบวนการผลิตในประเทศไทยจากเทคโนโลยีเก่าเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการควบคุมการผลิตอย่างเหมาะสม
S-curve ที่ 11 Promote Local Defense Industry เป็นรากเหง้าของ R V Connex ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
S-curve ที่ 12 Promote Workforce & Education Development Industry เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดและคนให้ความสนใจน้อยที่สุด นั่นคือการพัฒนาคน บริษัทพยายามที่จะพัฒนาทักษะฝีมือของคนในประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น มีการพยายามให้บุคลากรของเรามีขีดความสามารถทัดเทียมกับบุคลากรที่อยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว มีเรื่องของกระบวนการฝึกอบรม ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทำให้ R V Connex สามารถที่จะพัฒนาคนได้
รศ. ดร.สุเจตน์: ใน S-curve ที่ 12 เป็นสิ่งที่ R V Connex เข้มแข็งมาก วิธีการที่เราทำคือให้นักศึกษามาฝึกงานภาคฤดูร้อน มีการอบรมภาษาอังกฤษให้ แต่ที่เราต้องการคือระยะเวลาในการฝึกงาน 6 เดือน เพราะนักศึกษาจะได้รับประโยชน์จากการทำงานจริง และเราวางแผนจะขยายระยะเวลาในการฝึกงานเป็น 12 เดือน ซึ่งจะเริ่มในปีหน้า อีกเรื่องหนึ่งคือนักศึกษาจากอาชีวศึกษา หลังจากที่ทำงานสักระยะหนึ่ง จะต้องการดีกรี เรากำลังทำความร่วมมือกับสถานศึกษาในการนำความรู้ที่ได้จากการทำงานไปเทียบเป็นเครดิต โดยอาจจะเรียนเพิ่ม เพื่อให้ได้เป็นปริญญา

PETROMAT : ประโยชน์ที่จะได้จากการมาฝึกงานที่ R V Connex

คุณพีรพล: หลักสูตรหรือความรู้เหล่านั้นจะไม่เหมือนที่เรียนในห้องเรียน บรรยากาศในการเรียนไม่เหมือนกัน นักศึกษาจะได้เห็นว่าสิ่งที่กำลังเรียนจะถูกนำไปใช้อย่างไร
รศ. ดร.สุเจตน์: ผมเคยถามนักศึกษาที่มาฝึกงานและได้คำตอบว่าอยากจะทำงานที่บริษัทต่อ เพราะถ้าทำ 1 ปี เรามีที่พักและค่าใช้จ่ายให้ด้วย
คุณพีรพล: ตรงนี้ก็เป็นผลพลอยได้ของบริษัท ถ้าเขามีความเต็มใจจะทำงานกับบริษัท เราก็มีงานที่จะให้ทำ อย่างผมเองก็มีโอกาสได้พูดคุยและสัมภาษณ์น้องๆ ที่เรียนจบมาทางสายวิศวกรรมศาสตร์หรือสายเทคนิค เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นเป็นปัญหาของประเทศไทยมานานแล้ว เรามีนักศึกษาที่จบมาจากมหาวิทยาลัยที่ออกแบบและเขียนรูปบนคอมพิวเตอร์เป็น โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ออกแบบหรือเขียนบนคอมพิวเตอร์นั้น ไม่สามารถผลิตได้จริง ไม่ได้มองในโลกความเป็นจริงว่าทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจข้อจำกัดในกระบวนการผลิต หรือผลิตออกมาแล้ว นำไปใช้งานไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจข้อจำกัดหรือข้อกำหนดในการใช้งาน กระบวนการที่เรานำน้องๆ เหล่านี้มาดูงาน หรือเข้าไปปรับปรุงหลักสูตรไม่ว่าจะเป็นสถาบันอาชีวศึกษาหรือมหาวิทยาลัย นักศึกษาเหล่านี้จะเห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ได้เข้าสู่โลกการผลิต ได้เห็นว่าสิ่งที่เขาเขียนในคอมพิวเตอร์ มันผลิตจริงในโลกมนุษย์ไม่ได้ มันไม่มีเครื่องจักรที่จะผลิตได้ หรือผลิตได้แต่ใช้ต้นทุนมหาศาลโดยไม่จำเป็น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประเทศเราขาด เรามีนักทฤษฎีจำนวนมาก แต่เราไม่มีนักปฏิบัติ นอกจากออกแบบมาแล้วผลิตยาก มันยังมีปัญหาลงไปถึงเรื่องการใช้งาน คือต่อให้ผลิตได้สำเร็จก็ใช้งานไม่ได้ เราเองก็ได้ให้เด็กๆ เหล่านี้ได้เข้าไปเห็นกระบวนการเหล่านี้ และนำสิ่งเหล่านี้ย้อนกลับไปในกระบวนการออกแบบ เพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานได้จริง ซึ่งมันไม่สามารถที่จะให้เด็กมาฝึกงาน 2 เดือนแล้วเข้าใจสิ่งเหล่านี้ จะต้องติดตามโครงการแบบนี้ไปตั้งแต่ต้นจนจบ จึงเป็นสาเหตุที่เราให้ความสำคัญ ในความรู้สึกของผม ถ้าเราจะทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีของตัวเอง ไม่ได้พึ่งพาการเกษตรอย่างเดียว การพัฒนาคนต้องเป็นเรื่องแรกที่ทำ

PETROMAT : ทราบมาว่า R V Connex ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยจำนวนมาก รวมถึงเปิดกว้างให้หน่วยงานต่างๆ มาใช้เครื่องมือ ทั้งที่จริงควรจะถือว่าเป็นความลับของบริษัท อะไรที่ทำให้ R V Connex ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

คุณพีรพล: พื้นฐานประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ขายเป็นสินค้าเกษตรกรรม เมื่อเราต้องมาจับอะไรที่เป็นเทคโนโลยี ต้องการมี Know how ในเรื่องกระบวนการผลิต ทำให้งานวิจัยออกมาสู่สายการผลิตในตลาดเฉพาะกลุ่มนั้นมีความยากลำบากอย่างมาก ถือเป็นความโชคดีที่ R V Connex เอาตัวรอดมาได้ถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าว R V Connex มีการลงทุนเพื่อจัดหาเครื่องมือและพัฒนาคนให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราทำ ซึ่งต้องใช้เวลานานมากและต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล โดยเครื่องมือที่มีอยู่นั้น ต้องเรียนตามตรงว่าอาจจะยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากลักษณะการทำงานของบริษัทเป็นรูปแบบ Project-Based นั่นคือโครงการเกิดขึ้นแล้วจบไปเป็นรอบๆ แต่การที่จะทำให้โครงการเหล่านั้นสำเร็จได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบทั้งคนและเครื่องมือจำนวนมาก เป็นเครื่องมือวัดความแม่นยำสูง (High Precision Measuring Instrument) ซึ่งการจัดหาเครื่องมือมาทำโครงการของผมต้องตอบโจทย์การผลิตแบบ Low Volume แต่ High Precision, High Mix เป็นการผลิตชิ้นส่วนจำนวนน้อยในแต่ละครั้ง แต่ชิ้นส่วนเหล่านั้นต้องการความแม่นยำสูง มีความซับซ้อนสูงในการผลิต พอโครงการเหล่านี้จบลง ทางบริษัทมองว่าการใช้เครื่องมือเหล่านี้มันไม่คุ้มค่า จากนั้นมีโอกาสได้ปรึกษากับ ศ. ดร.วิษณุ มีอยู่ และ รศ. ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จึงได้คิดว่าเครื่องมือเหล่านี้ควรนำมาเป็นทรัพยากรของชาติ (National Resource) เพราะเป็นเครื่องมือที่นักวิจัยทั่วไปจับต้องไม่ไหวหรือเข้าถึงได้ยากเนื่องจากมูลค่าสูง บริษัทจึงอยากแสวงหาความร่วมมือเพื่อให้คนไทยเข้ามาใช้เครื่องมือเหล่านี้ ในมุมของผู้บริหารบริษัทฯ มองว่าน่าจะมีใครสักคนหนึ่งมาใช้เครื่องมือของเราเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และไปตั้งบริษัทเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแข่งกับบริษัทจากต่างประเทศ เราถือว่าได้ช่วยประเทศชาติ ในมุมนี้เราจึงเริ่มประชาสัมพันธ์ว่าบริษัทเรามีเครื่องมือหรือองค์ความรู้อะไรอยู่บ้างให้กับนักวิจัยภาครัฐ มหาวิทยาลัย นักวิจัยอิสระ หรือวิศวกรไทยที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ เพราะเวลาเรามองไปต่างประเทศจะเห็นว่าประเทศเขามีผลิตภัณฑ์มากมาย แต่ประเทศของเราการที่จะมีผลิตภัณฑ์ World Class สักชิ้น รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก

PETROMAT : น่าจะมีหลายหน่วยงานที่อยากทำความร่วมมือกับ R V Connex ตรงนี้มีกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง

คุณพีรพล: สำหรับเรื่องความร่วมมือ บริษัทเองก็ค่อนข้างที่จะยืดหยุ่น จะเป็นลักษณะความร่วมมือแบบไหน บริษัทก็ปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมด ไม่มีข้อกำหนดที่เข้มงวด เพราะเราไม่ใช่ระบบราชการที่ต้องอยู่ในกรอบของกฎกระทรวงหรือระเบียบราชการ ที่ผ่านมาก็มีงานวิจัยและการทดสอบตัวอย่างหลากหลายโครงการเกิดขึ้นมา โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเอกชน ทั้งนี้ความต่อเนื่อง (Consistency) เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มีความต่อเนื่องโอกาสที่จะสำเร็จก็จะลดน้อยลงไป ตรงนี้ต้องเรียนตามตรงว่าหลายครั้งที่บริษัทได้ทำโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาครัฐ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทำให้โครงการที่ทำอยู่ขาดความต่อเนื่องหรือต้องยกเลิกไป ที่ผ่านมาโครงการที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นโครงการที่ทำร่วมกับหน่วยงานที่บริหารแบบกึ่งเอกชน

PETROMAT : เหมือนว่าการบริหารจัดการของภาครัฐจะเป็นคอขวดในการพัฒนาเทคโนโลยี

คุณพีรพล: อีกสาเหตุหนึ่ง ผมมองว่าภาคเอกชนของประเทศไทยก็อนุรักษ์นิยม (Conservative) ด้วยครับ ผมมีโอกาสได้คุยกับภาคเอกชน ประเทศไทยของเราซื้อเครื่องจักรชั้นนำของโลกจำนวนมาก แต่นำมาใช้ไม่คุ้ม สมมุติว่าซื้อเครื่องพับโลหะมา มีความสามารถหลากหลาย เราเอามาพับสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ดูในเชิงการพับให้ได้จำนวนมากๆ เอาปริมาณเข้าว่า แต่พอมีงานตลาดใหม่ๆ ทั้งที่เครื่องจักรสามารถพับวงกลมได้ กลับไม่รับงานด้วยเหตุผลที่ว่าจำนวนงานน้อยเกินไปและไม่อยากปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ส่งผลให้งานวิจัยด้านการพัฒนาต้นแบบทำได้ยากมาก ซึ่งบริษัทเรามีความพร้อมตรงนี้ เพราะเครื่องมือที่เราจัดหามาก็รองรับงานที่เป็น Low Volume อย่างที่เรียนไปข้างต้น ดังนั้น การสร้างงานต้นแบบอย่างรวดเร็ว (Rapid Prototyping) สร้างงานวิจัยออกมาเพื่อใช้งานจริงที่นี่มีความพร้อม

PETROMAT : พักจากเรื่องหนักๆ ก่อน ปัจจุบัน R V Connex มีเทคโนโลยีหลักด้านไหนบ้าง

คุณพีรพล: ธุรกิจหลักของเราเกิดจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว ทีมผู้บริหารมีความเห็นว่าการเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้กับเรา มีความพยายามทำให้เกิดเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง เราได้ดำเนินสิ่งเหล่านี้มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว เราได้แบ่งประเภทของเทคโนโลยีที่มีออกเป็น 4 ด้าน คือ

1) ด้าน Security งานใหญ่ที่สุดคือ Cyber Security เราพัฒนาเครื่องมือ กระบวนการ และให้บริการด้าน Cyber Security ทั้ง Hardware และ Software ถ้าในเชิงของ Defense เราทำทั้ง Defensive และ Offensive คือป้องกันไม่ให้ใครเข้ามารุกรานเรา แต่ในบางกรณีเราก็ไม่ได้เป็นฝ่ายตั้งรับแต่เพียงอย่างเดียว ต้องมีการโจมตีบ้าง เราไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ แต่เราพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ นอกเหนือจากนั้นเป็นการทำ System Integration ครับ บูรณาการพวก Sensor ระบบตรวจจับทางทหาร ระบบตรวจจับทางอุตสาหกรรม การออกแบบ Platform เช่น หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด หุ่นยนต์ใช้งานในห้องปฏิบัติการที่มีอันตรายสูง งานด้านนี้ต้องการบุคลากรด้าน AI ค่อนข้างมาก ผมไปสัมมนาหลายที่ในประเทศไทย ไปที่ไหนก็พูดกันเรื่อง AI และ Big Data แต่คนที่ลงรายละเอียดว่าจะสร้างอย่างไรกลับไม่มีเลย เราเองก็เป็นห่วงตรงนี้อยู่

2) ด้าน Platform ซึ่งรวมถึงทั้งรถ เรือ และเครื่องบิน จะเป็นการรับ Requirement มาเลยว่าจะนำไปทำภารกิจอะไร จากจุดนั้น เราจะทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ หรือ ถ้าใครมี Platform อยู่แล้ว ต้องการจะ Upgrade ยกตัวอย่างเช่น คุณมีเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวและประสบปัญหาว่าระบบต่างๆ ไม่ทันสมัย อยากจะทำให้ระบบมันมีความปลอดภัยสูงขึ้น ถ้าเป็นสมัยก่อนจะต้องส่งเครื่องบินกลับไปที่บริษัทต่างประเทศ ปัจจุบันเราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เองในประเทศ คุณสามารถเลือกหน้าจอทั้งการแสดงผลและขนาดได้ตามความต้องการ ที่ผ่านมาเราทำให้กับเครื่องบินทหาร การ Upgrade เรือรบ การติดตั้งระบบอาวุธใหม่ๆ เป็นอาวุธที่ไม่เคยอยู่บน Platform นั้น

3) ด้าน Software จะเกี่ยวกับเรื่อง AI ค่อนข้างมาก ทางทหารจะให้ความสำคัญกับ Command & Control คือการควบคุมบังคับบัญชา รับข้อมูลจากภาคสนาม จาก Sensor หรือจากคน จากนั้นนำข้อมูลมาผ่านกระบวนการเพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาใช้ตัดสินใจและสั่งการออกไป ทำให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นได้เร็ว และเห็นผลจากการตัดสินใจนั้น ซึ่งปัจจุบันใช้เทคโนโลยีหลากหลายด้าน ประกอบด้วย Communication Computer Combat และ Cyber Security รวมเข้าไป ซึ่งบริษัทได้นำความรู้ด้านนี้ไปใช้กับงานที่เป็น Non-Defense ด้วย ลูกค้ากลุ่มนี้จะทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ (Critical Infrastructure) ซึ่งถือว่าเป็นงานด้านความมั่นคงเหมือนกัน เช่น ประปา ไฟฟ้า อย่างทหารเตรียมตัวมาอย่างดี แต่โดนตัดไฟฟ้าสัก 2 สัปดาห์ ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้น Critical Infrastructure หรือความมั่นคงของชาติไม่ได้อยู่ที่ทหารอย่างเดียว แต่รวมถึง Critical Infrastructure ของประเทศด้วย กลุ่มธุรกิจนี้จึงเริ่มหาคนที่มีความเข้าใจแบบพวกผมไปช่วยออกแบบระบบให้เขา เช่น ทำระบบการแจ้งเตือน กระบวนการในการแจ้งเตือน บูรณาการระบบให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

4) ด้าน Space เราทำทั้ง Hardware และ Software โดย Software ที่พูดถึงก็ไล่ตั้งแต่ระบบหลัก ระบบการควบคุมดาวเทียมที่อยู่บนอวกาศ การทำอย่างไรให้ดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรอย่างมีเสถียรภาพอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม รวมถึง Application ที่เขียนขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จาก Sensor ที่อยู่บนดาวเทียมได้เหมาะสม อย่างเช่นภาพถ่ายดาวเทียมหนึ่งภาพ ถ้าเรามีความรู้มากพอ จะสามารถให้ข้อมูลเราได้จำนวนมาก ทั้งเป้าหมายทางทหาร การสำรวจทรัพยากร วิเคราะห์ภัยธรรมชาติ การย้ายถิ่นของแมลงศัตรูพืช ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความสามารถที่จะวิเคราะห์มันหรือไม่

มาถึงตรงนี้ เราจะรู้แล้วว่า R V Connex เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทำธุรกิจตั้งแต่การออกแบบ การผลิต จนถึงบริการหลังการขาย มีวิศกรและช่างเทคนิคจำนวนมาก พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี 4 ด้าน คือ Security, Platform, Software และ Space นอกจากนี้ R V Connex ยังเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และใช้งานเครื่องมือที่บริษัทอีกด้วย ในการสัมภาษณ์ตอนต่อไป คุณพีรพล ตระกูลช่าง และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ จะมาเล่าถึงปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และประสบการณ์จากโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจ โปรดติดตามได้ทาง https://petromat.org/2022/interview/

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th