ภารกิจรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล

เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล

ปิโตรเลียมนับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานผ่านการทำสัมปทานจำนวน 20 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514(1) หรือเป็นเวลากว่า 51 ปี ที่ผ่านมา เมื่อมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ความสนใจจะมุ่งไปที่จำนวนเงินของสัมปทาน อายุของสัมปทาน ปริมาณปิโตรเลียมที่คาดว่าจะพบ ผลประโยชน์ที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะได้รับ แต่กลับไม่ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการสิ่งต่างๆ หลังจากหมดระยะเวลาของสัมปทาน ทั้งที่จริงแล้ว การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล หรือ Offshore Decommissioning ซึ่งในวงการเรียกย่อๆ ว่า Decom (อ่านว่า ดีคอม) นั้น มีความยุ่งยากซับซ้อนชวนปวดหัวไม่น้อยไปกว่าตอนสร้างเลยด้วยซ้ำ เพราะถึงแม้คำศัพท์ภาษาอังกฤษจะแปลตรงตัวว่ารื้อถอน แต่ในความจริงนั้น อาจรวมไปถึงการปรับพื้นที่ให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมเดิม หรือให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่มากๆ ที่ตั้งอยู่กลางทะเล นอกจากจะต้องใช้เครื่องมือและวิธีการที่พิเศษเฉพาะทางแล้ว ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม สารเคมี โลหะหนัก สารพิษที่อาจจะตกค้างหรือกระจายเข้าระบบนิเวศ ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องถึงปัญหาด้านสังคม ชุมชน กฎหมาย และอื่นๆ ตามมาอีกมาก และที่แน่นอนที่สุดคืองบประมาณในการดำเนินการรื้อถอนคงไม่น้อยแน่นอน คำถามต่อมาคือใครเป็นผู้ที่ต้องจ่ายค่ารื้อถอนที่ว่ากัน

ประเด็นปัญหาเรื่องค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเลนี้ กลายเป็นข่าวในสื่อต่างๆ เมื่อปี พ.ศ. 2562(2) เมื่อภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานจำเป็นต้องเปิดโต๊ะเจรจากับ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเพื่อหาทางออก เนื่องมาจากภาครัฐกำหนดให้ผู้รับสัมปทานวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม หลังหมดสัญญาสัมปทานปี พ.ศ. 2565-2566 จำนวนกว่า 300 แท่น หรือคิดเป็นมูลค่ารวมราว 1 แสนล้านบาท โดยฝั่งผู้รับสัมปทานมองว่าการวางหลักประกันค่ารื้อถอนนี้ไม่ยุติธรรม ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปที่ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514(3) ในยุคนั้นยังไม่มีการกล่าวถึงค่ารื้อถอน โดยเพิ่งมีกฎกระทรวง กำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559(4) เพิ่มเติมขึ้นมาไม่นาน นอกจากนี้การให้สัมปทานโครงสร้างพื้นฐานโดยทั่วไป เมื่อครบอายุการสัมปทานก็ยกสิ่งก่อสร้างให้ภาครัฐดำเนินการต่อ ไม่ต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างแต่อย่างใด หากพิจารณาแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ครบอายุสัมปทานจะแบ่งได้เป็นแท่นผลิตที่หมดอายุแล้ว ไม่สามารถผลิตปิโตรเลียมได้อีก กรณีนี้เอกชนยอมรับที่จะรื้อถอนให้ แต่ปัญหาเกิดขึ้นจากแท่นผลิตที่ยังไม่หมดอายุ ภาครัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ ซึ่งในมุมมองของภาคเอกชนนั้น การจะต้องวางหลักประกันรื้อถอนล่วงหน้าโดยให้ผู้อื่นสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างที่ตนเองเป็นคนลงทุนออกจะไม่ยุติธรรมไปสักหน่อย ในขณะที่มุมมองภาครัฐอยากให้ช่วยออกค่ารื้อถอนไว้ล่วงหน้าเพราะเอกชนได้ประโยชน์จากสัมปทานไปมากมายแล้ว ไม่ว่าผลการเจรจาจะลงเอยอย่างไร ก็ให้เป็นเรื่องของภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งพวกเราน่าจะได้รับทราบผลสรุปในอนาคตอันใกล้นี้

สิ่งที่น่าจะสร้างผลกระทบต่อชีวิตพวกเราจากการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเลน่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากน้ำมันดิบจากอ่าวไทยมีสารปรอทปนเปื้อนเกินกว่าความสามารถของโรงกลั่นในประเทศไทยจะรับได้ การรื้อถอนที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้สารปรอทกระจายเข้าสู่ธรรมชาติ เข้าสู่ระบบนิเวศในทะเล หรือเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้ สำหรับงานวิจัยในด้านนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) ได้มีโอกาสเข้าร่วมทีมวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยโดยกองทุนนิวตันจาก The Royal Academy of Engineering แห่งสหราชอาณาจักร ในโครงการ “Integral Process Optimization for Sustainable Offshore-structure Dismantling Yard Operation” โครงการฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและกระบวนการปฏิบัติงานสำหรับลานรื้อถอน เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการการแยกชิ้นส่วนจากการรื้อถอน และ เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติงานที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมการแยกชิ้นส่วนจากการรื้อถอน ผ่านกิจกรรมของโครงการในรูปแบบการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ การศึกษาดูงาน และการสัมมนา เพื่อส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือทางด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรมด้านวิศวกรรมศาสตร์เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในเชิงระบบ (System Transformation) ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักร

ปัจจุบัน โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินกิจกรรมเรียบร้อยไปเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 นี้เอง PETROMAT Today จึงถือโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย ผู้ประสานงานอุตสาหกรรม PETROMAT ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้ประสานงานโครงการนี้ มาแชร์ประสบการณ์ในการทำโครงการวิจัยระดับนานาชาติว่าจะดุ เด็ด เผ็ด มันส์ ขนาดไหน และทำให้ประเทศของเราได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้บ้าง

PETROMAT : สวัสดีครับ ดร.ทัศชา ตอนนี้โครงการ “Integral Process Optimization for Sustainable Offshore-structure Dismantling Yard Operation” ถึงเส้นชัยแล้ว รู้สึกอย่างไรบ้างครับ

ดร.ทัศชา: ดีใจและโล่งอกมากค่ะ (หัวเราะ) เนื่องจากโครงการนี้ จริงๆ แล้วได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักไป และเริ่มดำเนินโครงการต่อได้เมื่อปี พ.ศ. 2565 จนสำเร็จลุล่วงเป็นที่เรียบร้อยค่ะ

PETROMAT : ทราบมาว่า ดร.ทัศชามีส่วนในโครงการตั้งแต่การเขียนยื่นข้อเสนอโครงการฯ ในความเห็นของ ดร.ทัศชา จุดที่ยากที่สุดคืออะไรครับ

ดร.ทัศชา : การเตรียมเอกสารต่างๆ ค่ะ จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากนิดนึงเพราะเอกสารทุกอย่างต้องเป็นภาษาอังกฤษ และขั้นตอนการเตรียมข้อเสนอโครงการฯ ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้แน่ชัด รวมถึง Partner ทั้งในและต่างประเทศที่เราต้องชักชวนมาร่วมโครงการฯ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้าน Decom ทำให้โครงการฯ มีประโยชน์กับทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศให้มากที่สุดค่ะ

PETROMAT : เห็นว่าต้องรวมทีมวิจัยจากหลายหน่วยงาน ช่วยเล่าถึงตรงนี้สักหน่อยครับ

ดร.ทัศชา : ใช่ค่ะ เราต้องคิดให้ครอบคลุมว่าหน่วยงานใดบ้างที่จะมีอิทธิพลหรือได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุด ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ออกกฎหมายเกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นฯ รวมถึงภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการในการรื้อถอนแท่นฯ รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการรื้อถอนแท่นฯ นี้ด้วยค่ะ

PETROMAT : ประสบการณ์ที่ได้ไปดูงานที่ประเทศสกอตแลนด์เป็นอย่างไรครับ มีอะไรที่ประทับใจบ้าง ห้ามตอบว่าอากาศหนาวและได้ไปดูแฮรี่ พอตเตอร์นะครับ

ดร.ทัศชา : ขอตอบแบบนั้นไม่ได้หรือคะ (หัวเราะ) ถ้าตอบแบบจริงจังก็คือ หน่วยงานของที่สกอตแลนด์ในเรื่องการ Decom เข้มแข็งมากค่ะ เค้ามีการทำงานประสานกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมาก มีการอัปเดตข้อมูลกับสมาชิกที่เป็นภาคเอกชนเกี่ยวกับกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านการรื้อถอนแท่นฯ ทุกๆ 3 เดือน รวมถึงมีหน่วยงานที่ให้คำแนะนำผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการรื้อถอนแท่นฯ โดยเค้าจะคำนึงถึงหลักการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle) โดยนำชิ้นส่วนของแท่นไปใช้ประโยชน์ใหม่ก่อนที่จะนำส่วนประกอบที่เหลือไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ ซึ่งมีน้อยกว่า 10% จากส่วนประกอบทั้งหมดค่ะ

PETROMAT : ขอเข้าเรื่องงานวิจัยนะครับ การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน ตอบเป็นระดับ 1 – 10

ดร.ทัศชา : ความเห็นส่วนตัวคิดว่าประมาณระดับ 5 เนื่องจากการรื้อถอนโครงสร้างเชื่อมต่อระบบท่อใต้ทะเล อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณแนวท่อ หรือการจัดเก็บและการขนส่งของเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการรื้อถอนไปยังพื้นที่ดำเนินการบนฝั่ง หากไม่มีการควบคุมอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเส้นทางขนส่งและพื้นที่จัดการของเสียได้ค่ะ

PETROMAT : การให้ความสำคัญกับเรื่องการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมของต่างประเทศและของประเทศไทย ตอบเป็นระดับ 1 – 10 ครับ

ดร.ทัศชา : ของต่างประเทศในที่นี้คือประเทศสกอตแลนด์ที่มีโอกาสได้ร่วมงานวิจัยและไปดูงานที่สถานที่จริง ต้องบอกว่าระดับ 10 ค่ะ เพราะเค้ามีการจัดการที่ดีมาก มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มากกว่าประเทศไทยเราหลายสิบปี หากพูดถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย อาจจะให้อยู่ที่ระดับ 8 เนื่องจากเรายังถือว่าเป็นน้องใหม่สำหรับเรื่องนี้มาก ยังต้องมีการศึกษาถึงกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ที่จะนำมาบังคับใช้กับเรื่องนี้ค่ะ

PETROMAT : ดร.ทัศชาและทีมวิจัยได้มีโอกาสคุยเรื่องนี้กับหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยที่ไหนแล้วบ้าง แต่ละแห่งให้การตอบรับอย่างไรบ้าง

ดร.ทัศชา : ได้เข้าไปคุยกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกรมโรงงานอุตสาหกรรมค่ะ โดยทางโครงการได้เชิญตัวแทนจากทั้ง 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการออกกฎระเบียบและข้อกำหนดเกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นฯ ไปร่วมศึกษาดูงาน ณ ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้รับความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากมายกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายหน่วยงานของต่างประเทศ และจะนำความรู้และกฎระเบียบต่างๆ ที่แลกเปลี่ยนกับต่างประเทศมาปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปค่ะ

PETROMAT : หลังจากจบโครงการฯ แล้ว ดร.ทัศชา มีแผนจะขยายผลของโครงการนี้ต่อไปอย่างไรครับ

ดร.ทัศชา : ตอนนี้กำลังวางแผนความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตร Short course เกี่ยวกับ Decommissioning and Net Zero Technology กับทาง University of Aberdeen และ National Decommissioning Centre โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยเป็นแกนนำหลักในการจัดฝึกอบรม ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการของไทยเป็นอย่างมาก

PETROMAT : สุดท้ายนี้ อยากให้ ดร.ทัศชา แนะนำน้อง ๆ นักวิจัยรุ่นใหม่ที่สนใจเขียนขอทุนจากต่างประเทศ ควรเริ่มต้นอย่างไรดีครับ

ดร.ทัศชา : ฟังข่าวหรือติดตามเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เปิดให้ทุนไว้ค่ะ เขาเปิดให้ทุนบ่อยๆ โดยปกติแล้วทุนที่เป็นโครงการให้ทุนร่วมระหว่างประเทศมีเยอะ เบื้องต้นก็ควรศึกษาเกณฑ์การให้ทุนของแต่ละแหล่งทุนว่าต้องมีหน่วยงานร่วมหรือองค์ประกอบอะไรที่เค้าต้องการบ้าง กำหนดวัตถุประสงค์ของงานให้เข้ากับ Theme ที่แหล่งทุนกำหนด ก็น่าจะไม่ยากเกินเอื้อมแล้วล่ะค่ะ

ขอขอบคุณ ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย ที่เสียสละเวลามาเล่าถึงประสบการณ์การทำโครงการวิจัยร่วมกับนักวิจัยนานาชาติและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และขอให้ ดร.ทัศชา ประสบความสำเร็จในการเขียนขอทุนวิจัยดีๆ มาเพื่อพัฒนาประเทศของเรามากๆ ยิ่งขึ้นไปครับ

แหล่งข้อมูล

  1. ประวัติการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานในประเทศไทย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน (https://dmf.go.th/public/list/data/index/menu/752/mainmenu/611/)
  2. อุ้ม 4 ยักษ์พลังงาน ‘สนธิรัตน์’ปลดล็อกค่าโง่รื้อแท่นขุดเจาะแสนล้าน ฐานเศรษฐกิจ 31 สิงหาคม 2562 (https://www.thansettakij.com/content/408560)
  3. พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 (ฉบับ Update ล่าสุด) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน (https://law.dmf.go.th/public/law/index/detail/id/12)
  4. กฎกระทรวง กำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน (https://law.dmf.go.th/public/law/index/detail/id/38)
  5. เจาะลึกทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ ถาม-ตอบยอดฮิตจากการสํารวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน (https://thailand.chevron.com/-/media/thailand/news/documents/faq-by-dmf.pdf)
  6. ศูนย์ฯ ร่วมกับ ศสอ. จับมือ ม.อเบอร์ดีน จัดบรรยายถ่ายทอดความรู้ มุ่งสู่แนวทางการลดคาร์บอน 12 มกราคม 2566 (https://petromat.org/home/ศูนย์ฯ-ร่วมกับ-ศสอ-จับมื/)

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th