เรื่องโดย ธีรยา เชาว์ขุนทด
หลากหลายกิจกรรม พฤติกรรมการบริโภค และการผลิตวัสดุของมนุษย์ในปัจจุบัน ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตสำคัญในโลกของเรา ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลภาวะขยะมูลฝอย ซึ่งวิกฤตการณ์นี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เราทุกคนต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของทักษะสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้ในยุคนี้ คือ Green Skills
Green Skills หรือทักษะสีเขียว คืออะไร เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรามากน้อยเพียงใด และทำไมยังขาดแรงจูงใจสนับสนุนให้ตระหนักถึงทักษะนี้
ด้วยเพราะ Green Skills หรือทักษะสีเขียว เป็นกลุ่มงานสีเขียว (Green Jobs) ที่มีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการสนับสนุนการพัฒนามนุษย์ ในการทำธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศ หรือชุมชนท้องถิ่นทั้งยังช่วยให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืน และมีความเป็นอยู่ที่ดี
ทักษะสีเขียวประกอบด้วยความรู้ ความสามารถ ค่านิยม และทัศนคติที่จำเป็นสำหรับแต่ละบุคคลในการดำเนินชีวิต ทำงาน และกระทำในลักษณะที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่มีคาร์บอนต่ำและมีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ และสำหรับการมีส่วนร่วมในงานภาคส่วนสีเขียวแบบดั้งเดิม การนำพฤติกรรมที่ยั่งยืนมาใช้ และการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากข้อมูลของ World Economic Forum ระบุว่า เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ขับเคลื่อนโดยทักษะหลัก 6 ประการ และทักษะสำคัญเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณสร้างความสำเร็จในอาชีพการงานได้ในอนาคต ได้แก่
- ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจสีเขียวแห่งอนาคตจะต้องพึ่งพาคนงานที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งเป็นอย่างมาก บทบาทสำคัญจะรวมถึงนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักชีววิทยา นักอุทกวิทยา และนักชีวเคมี คนในงานเหล่านี้จะติดตาม จัดการ และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงที่ดินและแหล่งน้ำอันมีค่า
- ทักษะด้านสถาปัตยกรรมและการวางแผน อาคารต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพด้านพลังงานมากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรน้อยลงในการก่อสร้างและดำเนินการ สถาปนิกและนักวางแผนจะออกแบบอาคารเหล่านี้ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและความต้องการของลูกค้าสำหรับพื้นที่สีเขียว
- ทักษะด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อออกแบบและรักษาพลังงานสะอาด อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวอื่น ๆ
- ทักษะด้านเกษตรกรรม ความมั่นคงทางอาหารยังคงสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง การทำการเกษตรและแหล่งอาหารที่ยั่งยืน โดยสามารถใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำเกษตรได้
- ทักษะความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) สายอาชีพที่คำนึงถึงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ต้องการบุคลากรที่สามารถทำงานอย่างเข้าใจจุดร่วมและความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิมนุษยชนและสิทธิสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักรู้ถึงประเด็นทางสังคม กฎหมาย และประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ให้มนุษย์ทำผิดซ้ำรอยเดิมที่อาจจะเป็นการผลิตซ้ำความไม่ยุติธรรมทางเชื้อชาติ สังคม หรือส่งผลลบต่อสุขภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ทักษะการคิดเชิงระบบ ในภาพรวมงานสีเขียวต้องการบุคลากรที่สามารถออกแบบ ดำเนินการ และติดตามระบบที่หลากหลาย เช่น การประเมินระบบต่าง ๆ กับตัวชี้วัดประเมินผลการดำเนินการ โดยสามารถหาวิธีการที่จะปรับปรุงการดำเนินการทั้งหมดได้ ทักษะที่ควรมี คือ ทักษะในเศรษฐศาสตร์มหภาค เพื่อที่จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ในโครงการระยะยาว
ความสำคัญของทักษะสีเขียว
- ความต้องการที่เพิ่มขึ้น มีความต้องการผู้สมัครที่มีทักษะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกงานเป็นอย่างมาก ความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและทักษะสีเขียวคาดว่าจะเพิ่มขึ้น และในปัจจุบัน ยังมีช่องว่างทักษะสีเขียวที่สำคัญในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ป่าไม้ นิเวศวิทยา และการจัดการความยั่งยืน
- การเปลี่ยนแปลงระดับโลก การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวต้องใช้แรงงานระดับโลกที่มีทักษะสีเขียว รายงานและการศึกษาเน้นถึงความสำคัญของทักษะสีเขียวในการบรรลุผลลัพธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในธุรกิจ อุตสาหกรรม และชุมชน
ตัวอย่างของทักษะสีเขียว
- ความรู้ทางเทคนิค เช่น ทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย การตรวจสอบสิ่งแวดล้อม การเก็บเกี่ยวต้นไม้ และการสอน
- ทักษะที่สามารถถ่ายทอดได้ เช่น การคิดเชิงกลยุทธ์ การจัดการโครงการ การตัดสินใจ ความเป็นผู้นำ และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
การประยุกต์ใช้ทักษะสีเขียว
- บทบาทที่มีอยู่ ทักษะสีเขียวไม่ได้จำกัดอยู่แค่งานภาคสีเขียวแบบดั้งเดิมเท่านั้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นสำหรับทุกบทบาทเพื่อให้แน่ใจว่าการปฏิบัติงานมีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ภาคส่วนและบทบาทใหม่ การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวจะสร้างภาคส่วนและบทบาทใหม่ที่ต้องใช้ทักษะสีเขียว ซึ่งรวมถึงการขยายทักษะและขอบเขตในบทบาทผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนที่มีอยู่ และความต้องการทักษะสีเขียวในบทบาทที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
Green Skills ทักษะที่จะถูกจ้างงานมากขึ้นในอนาคต
มาพร้อม 5 อาชีพเกิดใหม่ของกลุ่มงานสีเขียว (Green Job) ที่น่าจับตามอง
และจากข้อมูลของ TCDC ระบุถึงสายงานใหม่ที่เกี่ยวกับข้องกับ Green Skills ดังนี้
- ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน (Sustainability Manager)
ผู้จัดการด้านความยั่งยืน หรือ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนมีหน้าที่วิเคราะห์ผลกระทบทางนิเวศวิทยาและสังคมของบริษัท พัฒนากลยุทธ์ระยะสั้น และระยะยาวในการปรับโมเดลธุรกิจ และการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตแบบหมุนเวียน และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
- ช่างเทคนิคกังหันลม (Wind Turbine Technician)
มีหน้าที่สำคัญในการรับผิดชอบการติดตั้งใช้งาน บำรุงรักษา และซ่อมแซมกังหันลม สอดคล้องกับข้อมูลจากสมาคมพลังงานลมโลก (World Wind Energy Association: WWEA) พบว่ามูลค่าธุรกิจกังหันลมในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยกังหันลมได้ถูกติดตั้งแล้วทั่วโลก
- นักนิเวศวิทยา (Ecologist)
นักนิเวศวิทยาทำหน้าที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพืช สัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยสำรวจผลกระทบที่ต่างฝ่ายมีต่อกัน รวมถึงศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุและพัฒนาวิธีการแก้ไข
- ที่ปรึกษาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Consultant)
ที่ปรึกษาด้านพลังงานแสงอาทิตย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ เนื่องด้วยการเพิ่มการผลิตหมุนเวียนทั่วโลกขยายตัวมากขึ้น ที่ปรึกษาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือลูกค้า ทั้งเชิงพาณิชย์และเอกชนในการเลือกระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประสิทธิภาพสูงสุดตามความต้องการ
- ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Environmental Health and Safety Specialist)
ตำแหน่งทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามเทคโนโลยี เครื่องจักร และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยรัฐบาลระดับชาติและนานาชาติ และเป็นไปตามมาตรฐานของธุรกิจ โดยจำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับนโยบายและข้อกำหนดในหลายอุตสาหกรรม
จากภาพรวมที่กล่าวมาพอจะเห็นภาพได้ว่า ทักษะสีเขียวถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้ในการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและปลดล็อกโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต โดยครอบคลุมทั้งทักษะทางเทคนิคและทักษะข้ามสาย ตลอดจนค่านิยมและทัศนคติที่สนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน ความต้องการทักษะสีเขียวกำลังเพิ่มมากขึ้น และการประยุกต์ใช้ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว
แหล่งข้อมูล
[1] https://www.unido.org/stories/what-are-green-skills?ref=creativetalkconference.com
[2] https://shorturl.asia/cwShX (World Economic Forum-Green jobs of the future)
[3] https://creativetalkconference.com/green-skills-the-future-skills
[4] https://www.sdgmove.com/2021/09/10/6-skills-prep-for-green-jobs