
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.ดวงดาว อาจองค์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่องวัสดุเคลือบผิวนาโนเซลลูโลสจากกัญชงสำหรับรักษาคุณภาพและยืดอายุการใช้งานพืชหลังการเก็บเกี่ยว “Green Guardian”

โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการเรื่องการสร้างมูลค่างานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ประจำปี พ.ศ. 2563 หรือโครงการปั้นดาว ระยะที่ 1 ซึ่งขณะนี้โครงการวิจัยได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยผู้แทนคณะบริหารโครงการปั้นดาวได้เข้ามาประเมินผลโครงการวิจัยฯ ในวันที่ 28 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมอาคารแถบ นีละนิธิ จุฬาฯ

วันดังกล่าวศูนย์ฯ ได้ต้อนรับคณะผู้ประเมินที่นำโดยศาสตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ พร้อมด้วยที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ ซึ่งได้เดินทางมาร่วมการประชุมเพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่โครงการวิจัยฯ

โดย ศ.ดร.ดวงดาว ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ และอาจารย์ ดร.กมลวรรณ ภาคาผล ผู้ร่วมโครงการวิจัยฯ ได้นำเสนอความสำเร็จจากการทำโครงการวิจัยฯ รวมถึงความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในการทดลองใช้นวัตกรรม “Green Guardian” ในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ ซึ่งประยุกต์ใช้ง่าย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกทั้งช่วยยืดอายุของผักผลไม้ให้เก็บไว้ได้นานขึ้น

