ท่องเที่ยวทั่วไทยเชิงอนุรักษ์

เรื่องโดย กุลนาถ ศรีสุข

หลังจากผ่านสถานการณ์โรคระบาดระดับโลก COVID-19 ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัวไปหลายปี ณ เวลานี้ ประเทศไทยเราสามารถเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง และหากเราทำให้การท่องเที่ยวของเราเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวของเราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองไปในตัว ผู้เขียนได้นำแนวทางดีๆ มาฝากตามมาดูกันเลยครับ

นิยามของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คืออะไร

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Ecotourism) คือ การท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมตระหนักในคุณค่าของมรดกทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมในท้องถิ่นร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น จึงไม่ได้จำกัดแค่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการได้ช่วยเหลือชุมชนและท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ทั้งนี้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เมื่อปี 2563 ทางเว็บไซต์ Booking.com ได้ทำการสำรวจนักท่องเที่ยวกว่า 20,000 คน ใน 28 ประเทศทั่วโลก พบว่า นักท่องเที่ยวถึง 80% ชื่นชอบการเที่ยวในสถานที่ที่ไม่ค่อยมีใครไป เพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนกำลังเป็นกระแสมาแรงในหมู่วัยรุ่นและคนทั่วไป เพราะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นการเที่ยวแบบแนวผจญภัย นอกจากนี้ยังชอบที่จะเที่ยวแบบช่วยเหลือชุมชน เพื่อสร้างประโยชน์และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูท้องถิ่นอีกด้วย

ขณะที่ผลสำรวจจาก Airbnb เผยว่า คนไทยสนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น โดย 73% พิจารณาการท่องเที่ยวจากเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน หากต้องตัดสินใจเลือกรูปแบบที่พัก จะเลือกจากการได้ใกล้ชิดธรรมชาติ สถานที่ที่มีอากาศดี อาจเป็นบ้านพักของครอบครัว หรือเพื่อนที่ต่างจังหวัด

ท่องเที่ยวอุทยานในประเทศเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืน ไม่ทำร้ายโลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ตามอินฟลูเอนเซอร์สายกรีน

ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต้องทำอย่างไรกันบ้าง

  •  จัดกระเป๋าเท่าที่จำเป็น จัดเสื้อผ้าให้เท่ากับจำนวนวันที่ต้องเดินทาง เพื่อลดน้ำหนักกระเป๋าให้เบาลง ซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำมันยานพาหนะได้มาก และทำให้เดินทางคล่องตัวขึ้นด้วย
  • พกอุปกรณ์อาบน้ำไปเอง การพกพาของใช้เหล่านี้ไปเองก็ช่วยลดการเกิดขยะพลาสติก จากอุปกรณ์อาบน้ำของทางโรงแรมที่จัดเตรียมไว้ให้กับแขกที่เข้าพักได้
  • ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าเช็ดตัว หรือผ้าปูที่นอนทุกวัน เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่เกิดจากการซักล้าง
  • วางแผนการเดินทางทุกครั้ง ก่อนไปเที่ยวอย่าลืมวางแผนการเดินทางว่าจะต้องไปเส้นทางไหนบ้าง เพื่อลดปริมาณน้ำมันในการขับรถตระเวนหาสถานที่ และประหยัดเวลาได้มาก
  • ใช้จักรยานแทนรถ หากต้องการเดินทางไปบริเวณใกล้ๆ แล้วมีจักรยานให้เช่าบริการ ควรเลือกใช้จักรยานแทนการขับรถ
  • นำแก้วน้ำดื่มและกล่องข้าวไปเอง เพื่อลดการใช้ขวด หรือแก้วพลาสติก รวมถึงบรรจุภัณฑ์กล่องโฟม ไม่ให้มีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น
  • ไม่ใช้หลอดพลาสติก นอกจากใช้แก้วส่วนตัวแล้ว หากไปซื้อเครื่องดื่มก็อย่าลืมบอกพนักงานว่า “ไม่รับ” หลอดพลาสติกด้วย
  • นำขยะไปทิ้งข้างนอกอุทยานฯ หากต้องเดินทางไปเที่ยวที่อุทยานฯ หรือแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ควรนำถุงสำหรับใส่ขยะไปด้วย เพื่อเอาขยะที่เราใช้ไปทิ้งภายนอกอุทยานฯ ทุกครั้ง ที่สำคัญอย่าลืมแยกขยะเพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่หลงเหลือในแหล่งธรรมชาติ ซึ่งสัตว์ป่าอาจนำไปกินแล้วเกิดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้
  • ห้ามขีดเขียนทำหลายแหล่งธรรมชาติ ควรเก็บมาแค่เพียงรูปถ่ายและความทรงจำดีๆ เท่านั้น เพราะการขีดเขียน หรือทำสัญลักษณ์ต่างๆ ลงบนต้นไม้ โขดหิน โบราณสถาน หรือโบราณวัตถุต่างๆ ถือว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างน่ารังเกียจ
  • ไม่นำของจากธรรมชาติกลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ปะการัง ก้อนหิน ใบไม้ ไปจนถึงสัตว์น้อยใหญ่อย่างปูเสฉวน ลูกปลา ลูกนก ฯลฯ จากแหล่งท่องเที่ยวกลับไปโดยเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้สวยงามที่สุดเมื่ออยู่กับแหล่งธรรมชาติต้นกำเนิดเท่านั้น
  • สนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชน หากต้องการซื้อของฝาก หรือจับจ่ายใช้สอยอื่นๆ ควรเลือกใช้บริการจากร้านค้าท้องถิ่นในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ร้านขายของชำ ไปจนถึงร้านขายของที่ระลึก เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนแก่คนในพื้นที่และเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

หลังจากที่ผู้อ่านรู้จักการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแนวทางการปฏิบัติตัวแล้ว ครั้งต่อไปเราจะพาไปดูอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ที่น่าสนใจ และแต่ละแห่งนั้นควรไปเที่ยวในช่วงเวลาไหนของปี ….ไว้พบกันในคอลัมน์ถัดไปนะครับ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th