เรื่องโดย พรพิมล ชุ่มแจ่ม
มารู้จักโซเดียมกัน
โซเดียมเป็นธาตุในตารางธาตุ ซึ่งมีสัญลักษณ์ Na เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็น ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย มีผลต่อความดันโลหิต รวมถึงสมดุลน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย ควรเลือกบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม โดยองค์กรอนามัยโลกแนะนำปริมาณโซเดียมที่บริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ
โซเดียมแฝงที่พบในอาหาร
โมโนโซเดียมกลูตาเมต => ผงชูรส => เพิ่มความอร่อย => ในอาหารทั่วไป
โซเดียมไนไตรท์ => วัตถุเจือปนอาหาร => ช่วยให้เนื้อสัตว์สดใหม่อยู่เสมอ => กุนเชียง หมูยอ ปลาเค็มตากแห้ง
โซเดียมเบนโซเอต => สารกันบูด => ช่วยถนอมอาหาร => น้ำอัดลมผลไม้
โซเดียมไบคาร์บอเนต => เบกกิ้งโซดา => ช่วยให้ลักษณะอาหารฟูขึ้น => ขนมปัง เค้ก
โซเดียมอัลจิเนต => วัตถุเจือปนอาหาร => ช่วยให้เกิดการคงตัว => เจลลี่ ไอศรีม
โซเดียมซอร์เบต => สารกันบูดอีกชนิดนึง => ช่วยถนอมอาหาร => เนย ชีส โยเกิร์ต
ตัวอย่างปริมาณโซเดียมในอาหาร
เทคนิคการกินเพื่อลดโซเดียม
เมื่อทราบถึงผลเสียที่เกิดขึ้นแล้วมาปรับพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพกันค่ะ
- ค่อยๆ ลดปริมาณโซเดียมลง เพื่อให้ต่อมรับรสทำความคุ้นเคยกับความเค็มที่ลดลง อาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 -4 สัปดาห์
- งดการปรุงรสเพิ่ม ด้วยน้ำจิ้ม ซอส รวมไปถึงงดซดน้ำซุป เพราะอาหารจากธรรมชาติก็มีเกลือโซเดียมเป็นองค์ประกอบในตัวอยู่แล้ว ยิ่งเป็นเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเล ก็จะมีเกลือแฝงอยู่มากขึ้น
- การทำอาหารรับประทานเองย่อมดีกว่าการบริโภคอาหารสำเร็จรูป รวมไปถึงการปรุงรสที่สามารถควบคุมปริมาณของผงชูรส เกลือ น้ำปลา ซอส หรือจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ปรุงรสแบบโซเดียมต่ำได้อีกด้วย
ภาษีความเค็ม
คือ การจัดเก็บภาษีเฉพาะสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมเกินมาตรฐานความเค็มที่กฎหมายกำหนด เป็นการจัดเก็บภาษีเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับการผลิตใส่โซเดียมในผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคในมาตรฐานที่กำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเพิ่ม และเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน
อธิบดีกรมสรรพาสามิต ได้ระบุว่าภาษีความเค็มถือเป็นภาษีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดการ ยิ่งเค็มมากก็จะเสียภาษีมาก ซึ่งการเก็บภาษีนี้จะเน้นไปที่ระดับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกวางแผนภาษีได้หลายแนวทาง เช่น เลือกปรับสูตรเพื่อลดปริมาณโซเดียมลง เลือกที่จะจ่ายภาษีเพิ่ม หรือเลือกที่จะขึ้นราคาสินค้าโยนภาระให้ผู้บริโภค เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคอาจจะเลือกรับประทานน้อยลงหรือเลือกสินค้าอื่นที่ปริมาณโซเดียมเหมาะสมกับร่างกาย แต่ทั้งนี้ไม่ว่าแนวทางใด ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค