CO2 Concrete

เรื่องโดย ดร.ภัสร์ชาพร สีเขียว

สภาวะโลกร้อนส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นฤดูฝนที่บางพื้นที่มีฝนตกหนักจนน้ำท่วม ฤดูหนาวที่เดินแล้วยังมีเหงื่อ หรือฤดูร้อนที่ทำสถิติอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี ล่าสุดอุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้น 1.18 องศาเซลเซียส และคาดว่าจะสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ. 2027 หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก คือ การผลิตคอนกรีต ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างหลักที่ใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะในการผลิตปูนซีเมนต์ที่เป็นส่วนประกอบหลักของคอนกรีตในการสร้างอาคารบ้านเรือน ปัจจุบันอาคารทั่วโลกมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 39 ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดจากการใช้พลังงาน โดยร้อยละ 28 มาจากการใช้พลังงานในการทำความร้อน ความเย็น และการใช้ไฟ้ฟ้า และมาจากวัสดุก่อสร้างรวมกับกระบวนการก่อสร้างอีกร้อยละ 11 บทความนี้จะพาไปรู้จักกับนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ นั่นคือ “CO2 Concrete”

CO2 Concrete  คือ คอนกรีตที่ใช้ CO2 ในการผลิตโดยเกิดปฏิกิริยาเคมีเปลี่ยนเป็นสารประกอบคาร์บอเนต (Carbonate) ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับคอนกรีต โดย CO2 ที่ใช้นี้มาจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ นวัตกรรมนี้จึงช่วยลดปริมาณ CO2 ในบรรยากาศได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำขยะจากการก่อสร้าง เช่น เศษหิน อิฐ เซรามิก ดิน และทราย มารีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตใหม่ได้ ซึ่งเป็นการช่วยลดปริมาณขยะและการปล่อยก๊าซ CO2 ที่เกิดจากการรื้อถอนอาคารและโครงสร้างต่าง ๆ จำนวนมาก

การผลิต CO2 Concrete ประกอบด้วยกระบวนการหลัก ดังนี้

  1. การดักจับ CO2 หรือ “Carbon Capture”

ดักจับ ก๊าซ CO2 จากแหล่งปล่อยต่าง ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล หรือการใช้ระบบ CCS (Carbon Capture and Storage) เพื่อดักจับ CO2 ที่ปล่อยออกจากโรงงานหรืออากาศ

  1. การผสม CO2 กับ คอนกรีต

นำ CO2 ผสมเข้ากับส่วนผสมของคอนกรีต โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “Carbon Cure” ซึ่งทำให้ CO2 เข้าไปแทนที่แล้วทำปฏิกิริยากับส่วนผสมของคอนกรีตเกิดเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต ทำให้คอนกรีตที่ได้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น

ประโยชน์ของ CO2 Concrete

  1. ลดการปล่อย CO2

CO2 Concrete ช่วยดูดซับ CO2 ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตคอนกรีตแบบดั้งเดิม โดยการใช้ CO2 ที่จับได้จากการปล่อยในภาคอุตสาหกรรม

  1. เพิ่มความแข็งแรงของคอนกรีต

การผสม CO2 กับคอนกรีตไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 แต่ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของคอนกรีต เนื่องจากการทำปฏิกิริยาของ CO2 กับส่วนผสมของคอนกรีตทำให้เกิดเป็นคาร์บอเนต ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นที่ความแข็งแรง

  1. ยืดอายุการใช้งานของโครงสร้าง

คอนกรีตที่มีการผสม CO2 มีแนวโน้มที่จะมีความทนทานและยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น เนื่องจากการผสม CO2 ช่วยเสริมความแข็งแรง และลดการเกิดการแตกหักหรือความเสียหายจากปัจจัยต่าง ๆ

  1. สร้างอนาคตที่ยั่งยืน

การพัฒนา CO2 Concrete ช่วยให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพากระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดมลพิษ สิ่งนี้ช่วยให้มีการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมคาร์บอนคอนกรีตยังเผชิญความท้าทายในเรื่องต้นทุนและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอในบางประเทศ แต่ก็ยังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางที่จะพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนและการเปลี่ยนของเสียจากการก่อสร้างเป็นวัสดุใหม่ ทั้งนี้ คาร์บอนคอนกรีตเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำพาอุตสาหกรรมการก่อสร้างไปสู่ความยั่งยืน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th