Circular Mark ฉลากรักษ์โลก ยกระดับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

เวลาช็อปปิง คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าสินค้าที่กำลังซื้ออยู่นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกแค่ไหน หรือหากคุณเป็นผู้ประกอบการที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณกำลังมองหาวิธีบอกกับผู้บริโภคอยู่หรือไม่ ว่าสินค้าที่คุณขายนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน

หากคำตอบคือ…ใช่ “Circular Mark” นี่แหละที่ช่วยให้นักช็อปและผู้ประกอบการ อย่างคุณซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกและตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนได้โดยเข้าใจตรงกัน

Circular Mark ฉลากใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม

Circular Mark คือ ฉลากสิ่งแวดล้อมที่ให้การรับรองกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรในแบบที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

Circular Mark เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการตลาด ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เลือกซื้อนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในแง่การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ขณะที่ผู้ประกอบการก็สามารถติดฉลากดังกล่าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อมตอกย้ำความมั่นใจให้แก่กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม

Circular Mark ได้รับการพัฒนาขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในโลก เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มพลาสติก กลุ่มบรรจุภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ในการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น ออกแบบผลิตภัณฑ์รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำซากของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็นและสารเคมีอันตราย รีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุใช้งานแล้ว รวมถึงแนวทางอื่นๆ ซึ่งรวมเรียกว่าหลักหมุนเวียน 12Rs

Circular Mark กับหลักเกณฑ์ในการขอรับการรับรอง

Circular Mark มีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ครอบคลุมในด้านการใช้ทรัพยากร การก่อให้เกิดขยะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดทุกช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การผลิตจนถึงการกำจัดหลังสิ้นการใช้งาน

เพราะฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับการรับรอง Circular Mark นั้นจะต้องมีการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า รวมถึงกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าและในการจัดการกับของเสีย

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 376 รายการ จากบริษัท 30 แห่ง ที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนติดฉลาก Circular Mark ซึ่งมีอายุการรับรอง 3 ปี โดยผู้บริโภคสามารถค้นหาตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการติดฉลากดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ Thai Eco Products ซึ่งจัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย https://thaigreendirectory.com/search?search=3&text=36

ส่วนผู้ประกอบการที่สนใจนำผลิตภัณฑ์ไปยื่นขอรับการรับรองเพื่อขึ้นทะเบียนติดฉลาก Circular Mark นั้น สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โทร. 0-2503-3333 และ อีเมล info@tei.or.th

Circular Mark นวัตกรรมผลักดันเศรษฐกิจบีซีจีของประเทศ

Circular Mark ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อช่วยผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยในปี พ.ศ. 2565 บพข. ได้พัฒนานวัตกรรมนี้ร่วมกับหน่วยงานภาคี ได้แก่ กลุ่มวีกรีนหรือศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รวมถึงยังได้ร่วมมือกับโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยวัตถุประสงค์ของความร่วมมือนี้ คือ เพื่อขับเคลื่อนกลไกซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการติดฉลากให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง จึงทำให้เกิดความตระหนักรู้ในการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้บริโภคกับผู้จำหน่าย ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตลาดสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ Circular Mark กำลังจะได้รับการต่อยอดให้เป็นที่ยอมรับต่อไปในระดับสากล

ในด้านสิ่งแวดล้อม การขยายตัวที่มากขึ้นของตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มอัตราการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยลดอัตราการถลุงทรัพยากรใหม่และลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ นอกจากนั้นแล้วยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

Circular Mark เป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสื่อสารกับผู้บริโภคได้ว่าผลิตภัณฑ์ของตนเองนั้นรักษ์สิ่งแวดล้อม คราวหน้าจะซื้อของก็ลองมองหาสินค้าที่ติดฉลากนี้กันดู

แหล่งข้อมูล

  1. ข่าวเรื่องครั้งแรกของโลกกับการประกาศใช้ Circular Mark ฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ https://pmuc.or.th/?p=5095
  2. บทความเรื่องซื้ออย่างไรให้ยั่งยืน มองหา Circular Mark ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย https://www.globalcompact-th.com/CircularMark
  3. วิดีโอเรื่องโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อกำหนดฉลาก Circular Mark โดยสถานีโทรทัศน์สถาบันการศึกษา เพื่อให้บริการสาธารณะ KU Channel https://www.youtube.com/watch?v=OJbmX-oHuZU

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th