Circular Food Economy กู้วิกฤตอาหารด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญ แต่ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับวิกฤติแหล่งผลิตอาหารที่ลดลง จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ขณะที่วิกฤติขยะอาหารก็กำลังทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเราสามารถกอบกู้วิกฤติด้านอาหารนี้ได้โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

วิกฤติด้านอาหารเกิดจากอะไร ส่งผลแค่ไหนต่อโลกและผู้คน

อุตสาหกรรมการผลิตอาหารต้องรองรับการบริโภคของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเมือง ซึ่งสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมหาศาล โดยทุกปีพื้นที่ทำการเกษตรทั่วทั้งโลกจะเสื่อมสภาพลงประมาณ 150,000 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งการทำเกษตรกรรมยังสิ้นเปลืองน้ำกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำจืดที่เราใช้กันทั่วโลก

ภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรบางอย่างตกต่ำ นอกจากนี้ ยังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญในสินค้าทางการเกษตร จึงทำให้สองประเทศนี้ส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวได้ลดลง ขณะเดียวกันบางประเทศก็เริ่มใช้นโยบายกักตุนและจำกัดการส่งออกวัตถุดิบด้านอาหาร ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารของโลก

ปัจจุบันประชากรโลกประมาณร้อยละ 10 อยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร แต่อาหารที่ทั้งโลกผลิตขึ้นกลับจัดการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้หนึ่งในสามของปริมาณอาหารทั้งหมด ต้องเน่าเสียในกองขยะอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเป็นการสูญเสียราว 35 ล้านล้านบาทต่อปี ส่วนขยะอาหารที่เกิดขึ้นก็อาจหมักหมมกับเชื้อจุลินทรีย์แล้วปล่อยก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างไร

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นระบบ ดังนั้นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งที่เหลือจากการผลิต รวมถึงอาหารที่เหลือจากการบริโภค จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกัน อาทิเช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ปุ๋ยอินทรีย์ พลังงานชีวภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นการลดปริมาณขยะอาหาร รวมถึงช่วยลดอัตราการใช้ทรัพยากรใหม่ จึงส่งผลให้แหล่งทรัพยากรได้รับการฟื้นฟูตามธรรมชาติและผลิดอกออกผลผลิตที่เป็นอาหารออกมาได้อีกครั้ง นอกจากนี้การบริหารจัดการทรัพยากรอาหารอย่างเป็นระบบนั้นจะช่วยลดภาวะขาดแคลนอาหารที่อาจรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

วิธีกู้วิกฤติด้านอาหารด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

การกู้วิกฤติด้านอาหารให้สำเร็จด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ทำได้ในระดับบุคคล ระดับชุมชน และระดับอุตสาหกรรม โดยมีวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้

1. ปลูกพืชกินเองในบ้านและในชุมชนใกล้ตัวเมือง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารจากพืชท้องถิ่นได้นานาชนิด ที่ให้ผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งช่วยลดการพึ่งพาอาหารจากที่อื่น

2. เลือกซื้อสินค้าทางการเกษตรจากแหล่งผลิตในที่อื่นๆ ซึ่งสนับสนุนวิถีเกษตรกรรมที่ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น ปลูกพืชหมุนเวียนและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำและอากาศ อีกทั้งทำให้ผลผลิตมีคุณภาพและรสชาติอร่อย

3. สำหรับร้านค้า ควรจัดเตรียมผลิตภัณฑ์อาหารในปริมาณที่พอเหมาะ รวมถึงลดราคาผักผลไม้ที่สุกงอมและสินค้าอาหารที่ใกล้หมดอายุ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อไปบริโภคแทนที่จะถูกทิ้งไปเป็นขยะ

ปัจจุบันมีนวัตกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจในการช่วยชะลอการเน่าเสียของผลิตภัณฑ์อาหารสดที่มาจากพืช หนึ่งในนั้นก็คือ นวัตกรรมสารนาโนเซลลูโลสสำหรับเคลือบผิวผักผลไม้ ซึ่งช่วยให้ผักและผลไม้คงความสดเอาไว้ได้ยาวนานมากขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Green Guardian โดยศาสตราจารย์ ดร.ดวงดาว อาจองค์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในนักวิจัยในเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ

4. สั่งซื้ออาหารในปริมาณแต่พอดี และรับประทานอาหารในทุกมื้อให้หมดเกลี้ยง เพื่อไม่ให้เกิดขยะอาหาร

5. คัดแยกขยะอาหารอินทรีย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อาทิ นำไปเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ซึ่งสามารถนำไปเลี้ยงไก่หรือขายเป็นอาหารสัตว์ โดยแนวทางนี้เป็นหนึ่งในวิธีลดขยะอาหารภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การเพิ่มมูลค่าขยะในชุมชนเกาะสมุยโดยใช้เทคโนโลยีสะอาดเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ดำเนินการโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ

6. แปรรูปขยะอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตัวอย่างที่ง่ายก็เช่นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับนำไปบำรุงดินเอาไว้ปลูกพืช รวมถึงวิจัยต่อยอดของเหลือจากอาหารสู่การเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ธัญพืชสามารถนำไปผลิตเป็นโปรตีนพืชทดแทนเนื้อสัตว์ ส่วนข้าวโพดก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นแป้งข้าวโพด น้ำมันข้าวโพด ตลอดจนไบโอเอทานอล

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชกำลังได้รับความนิยมโดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป โดยในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าดังกล่าวในมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งขยายตัวร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2563 ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับไทยในการสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าแปรรูปอาหารชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตที่สำคัญในสินค้าข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นอาหารได้แล้วยังสามารถนำไปพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจชีวภาพได้อีกด้วย

นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์อาหารก็ควรทำจากวัสดุที่ย่อยสลายง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้การจัดการขยะอาหารทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

วิกฤติด้านอาหารนั้นกู้ให้กลับสู่ภาวะปกติได้โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้คน สิ่งแวดล้อม รวมถึงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

แหล่งข้อมูล

  1. Food And The Circular Economy https://archive.ellenmacarthurfoundation.org/explore/food-cities-the-circular-economy
  2. วิกฤตอาหารโลกต่อเศรษฐกิจไทย โดยกองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม https://www.oie.go.th/assets/portals/1/fileups/2/files/ArticlesAnalysis/GlobalFoodCrisis_ThaiEconomy.pdf

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th