เศรษฐกิจหมุนเวียน การเปลี่ยนแปลงในยูเครน

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

ยูเครนมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก แต่ในอดีตยังขาดการบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและในชุมชน ทำให้ทรัพยากรถูกใช้หมดไปอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องต่อปริมาณของเสียที่กำลังเพิ่มขึ้น โดยยูเครนเป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ปัจจุบันจึงเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับอุตสาหกรรมและระดับชุมชน

เปลี่ยนปัญหาทรัพยากรในประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน

หากไม่เกิดภาวะเกิดสงคราม ในปี พ.ศ. 2565 ยูเครนจะอยู่ในช่วงที่ 2 จากทั้งหมด 3 ช่วงของการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามแผนกลยุทธ์การจัดการของเสียในประเทศ (National Waste Management Strategy) ที่รัฐบาลยูเครนในขณะนั้นได้ผ่านมติรับรองเมื่อปี พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาเศรษฐกิจและปรับปรุงกระบวนการใช้ทรัพยากรในประเทศ

ยูเครนมีประชากรประมาณ 44.6 ล้านคน โดยอัตราคนว่างงานคิดเป็น 9.3% ตัวเลขในปี พ.ศ. 2558 ระบุว่ายูเครนมีปริมาณพื้นที่การเกษตรครอบคลุมมากถึง 75% ของประเทศ และมีป่าไม้สะสมปริมาณ 2,196 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรป มีตัวเลขดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ 41% และ 950 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ นอกจากนี้ ยูเครนยังมีน้ำใช้ใหม่ (Renewable Water Resources) ปริมาณ 3,910 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ยูเครนจึงถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากในด้านทรัพยากรธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรส่วนใหญ่ถูกใช้หมดไปอย่างสิ้นเปลือง จากสถิติพบว่ามีเพียง 15 % ของพื้นที่ผืนป่าในยูเครนเท่านั้น ที่อยู่ภายใต้การบริหารทรัพยากรแบบยั่งยืน ขณะที่แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน ก็กำลังถูกคุกคามจากมลพิษที่มาจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร รวมถึงภาคครัวเรือน

ตัวเลขจากปีเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2558 ระบุว่าภาคอุตสาหกรรมของยูเครนมีการใช้พลังงานคิดเป็นสัดส่วนทั้งหมด 34.5% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในประเทศ ซึ่งมากกว่าสัดส่วนพลังงานที่ใช้ในอุตสาหกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ที่ 25.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่ล้าสมัย ไม่ใช่เพียงพลังงานเท่านั้นที่ถูกใช้ในปริมาณมหาศาล แต่รวมไปถึงวัตถุดิบตั้งต้นด้วยเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่จะมีการผลิตสินค้าจะต้องเอาวัตถุดิบใหม่มาจากแหล่งธรรมชาติ ทำให้ทรัพยากรในยูเครนมีน้อยลงไปทุกที

อีกการสำรวจหนึ่งพบว่าในปี พ.ศ. 2559 ปริมาณของเสียทั้งหมดในยูเครนมีมากกว่า 300 ล้านตัน ในจำนวนนี้ประมาณ 97% เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ของเสียจากที่อื่นๆ รวมทั้งภาคครัวเรือน มีรวมกันไม่ถึง 3% เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นของเสียส่วนใหญ่ยังขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแยกประเภทของเสีย และการหมุนเวียนของเสียกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เกิดการสะสมกลายเป็นขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายหนึ่งในการที่ยูเครนจะบรรลุตามแผนกลยุทธ์ฯ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2573 คือการสร้างศูนย์รวบรวมของเสียแห่งใหม่ จำนวน 250 – 300 แห่ง ให้เป็นแหล่งรับและแยกของเสีย เพื่อนำไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ อีกด้านก็มีการตั้งเป้าให้พื้นที่ฝังกลบขยะทั่วยูเครน ลดจำนวนลงเหลือเพียง 100 – 150 แห่ง จากทั้งหมดประมาณ 5,500 แห่งในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ กำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชนของยูเครน

อุตสาหกรรมที่สำคัญของยูเครน ในภาพคือโรงไฟฟ้า Burshtyn TES ในแคว้น Ivano-Frankivsk Oblast ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ

CREDIT ภาพ: © Raimond Spekking / CC BY-SA 4.0 (via Wikimedia Commons)

Power plant Burshtyn TES, Ukraine-6089a

CC BY-SA 4.0

เปลี่ยนอุตสาหกรรม แปลงของเสียเป็นวัตถุดิบล้ำค่า

ภาคอุตสาหกรรมของยูเครนก่อให้เกิดของเสียหลายประเภท เช่น เศษซากพืช สิ่งปฏิกูลจากสัตว์ รวมถึงวัตถุพลอยได้จากอุตสาหกรรม ที่หากไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จะกลายเป็นของเสียที่ต้องกำจัด

บริษัท Recycling Solutions เป็นบริษัทหนึ่งที่มองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นพร้อมกับโอกาสในการสร้างธุรกิจ บริษัทนี้ทำธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและวางกลยุทธ์ให้ลูกค้า ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการของเสียและวัตถุพลอยได้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมถ่านหิน อุตสาหกรรมด้านพลังงาน และอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้มีกระบวนการหมุนเวียนนำของเสียและวัตถุพลอยได้จากอุตสาหกรรมเหล่านั้น กลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่ม ตัวอย่างเช่น

– Coal Combustion Products วัตถุพลอยได้จากการเผาไหม้ถ่านหินในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน โดยนำไปแปรรูปเป็นเถ้าสำหรับผสมลงในวัสดุก่อสร้าง เช่น ซีเมนต์ คอนกรีต วัสดุกันความร้อน ฯลฯ
– Ammonium Sulfate วัตถุพลอยได้จากอุตสาหกรรมถ่านโค้ก โดยนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นที่ต้องการในการปลูกถั่วเหลือง มันฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ฯลฯ นอกจากนี้ Ammonium Sulfate ยังนำไปใช้เป็นสารเติมแต่งในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารบางชนิดอีกด้วย
– ชิ้นส่วนที่เหลือจากสัตว์ ซึ่งไม่ได้นำไปใช้เพื่อการบริโภคของมนุษย์ โดยนำไปแปรรูปเป็นอาหารสำหรับปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมัน นอกจากนี้ส่วนที่เหลือจากการแปรรูปยังสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือนำไปผลิตไบโอดีเซล

ธุรกิจนี้ทำให้ยูเครนสามารถลดปริมาณของเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมได้กว่าปีละ 2.2 ล้านตัน อีกทั้งช่วยให้ลูกค้าที่เข้ารับบริการประหยัดทรัพยากรและต้นทุนในการจัดการกับของเสีย และเพิ่มกำไรธุรกิจจากการขายผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแปรรูป นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักดันให้เกิดการลงทุนเพิ่มด้านการวิจัยและพัฒนาในธุรกิจอุตสาหกรรม โดยการคาดการณ์ระบุว่าตลาดทั่วโลกในธุรกิจการจัดการของเสียอุตสาหกรรม จะเติบโตจนมีมูลค่าราว 80 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2568 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 10% ต่อปี

สำหรับยูเครนแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าด้วยการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและการลดการเกิดของเสีย จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ดีขึ้น รวมถึงจะช่วยให้เกิดการจ้างงานโดยเฉพาะจาก SMEs ขณะเดียวกันก็เป็นการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติไปในตัว

เปลี่ยนการบริโภคเพื่อส่วนตัว เป็นการมีส่วนร่วมกับชุมชน

ปัญหาใหญ่ของของเสียที่เกิดจากภาคครัวเรือนคือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี การสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่ายูเครนมีขยะมูลฝอย 11.86 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับ 280.5 กิโลกรัมต่อหัวประชากร ขยะมูลฝอยจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลในอัตราเพียง 0.14% และถูกนำไปเผาเพื่อให้พลังงานเพียง 1.7% ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นส่วนใหญ่มากถูกนำไปฝังกลบ แต่ผู้บริโภคสามารถมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงให้เกิดการลดการใช้ผลิตภัณฑ์บางประเภท รวมถึงมีส่วนร่วมในการแยกของเสียเพื่อนำไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ในภาคการผลิต ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมือง Lviv

Lviv ตั้งอยู่ทางตะวันตกของยูเครนที่ติดกับโปแลนด์ Lviv มีประชากรประมาณ 755,000 คน ที่นี่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของยูเครนฝั่งตะวันตกและอยู่ในลำดับที่ 7 ของประเทศ ทำให้มีของเสียเกิดขึ้นในปริมาณมาก เมื่อปี พ.ศ. 2562 ผู้คนที่อาศัยในเมืองนี้สร้างขยะในปริมาณมากถึง 356 กิโลกรัมต่อหัวประชากร ทว่าที่นี่ได้กลายเป็นเมืองแรกของยูเครน ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นเมืองที่ของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste City) ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ทั้งนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างโครงการ Zero Waste Lviv กับ Zero Waste Alliance Ukraine เพื่อผลักดันให้ของเสียลดลงเป็นศูนย์ในชุมชน ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ โดยกลไกสำคัญคือการลดและการแยกของเสียด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่

– Reduce คือการลดการบริโภคทรัพยากร ซึ่งทำให้ของเสียไม่เกิดขึ้น รวมถึงส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมลดการผลิตสินค้าตามความต้องการที่ลดลงของผู้บริโภค
– Reuse คือการนำผลิตภัณฑ์กลับไปใช้ซ้ำ เพื่อลดอัตราการเกิดของเสียและอัตราการใช้วัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าในภาคอุตสาหกรรม
– Recycle คือการแปรรูปของเสียกลับไปใช้ประโยชน์ โดยผู้บริโภคที่อยู่ปลายทางของการใช้ทรัพยากร ต้องมีส่วนร่วมในการแยกของเสียให้ถูกประเภท เพื่อส่งคืนกลับไปให้ผู้ผลิตนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าได้อีกครั้ง

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือโครงการ ZeroCup เพื่อลดขยะแก้วกาแฟ Lviv ไม่ต่างกับเมืองอื่นทั่วโลก คือมีผู้ดื่มกาแฟหลายคน ทำให้มีขยะแก้วกาแฟในปริมาณมาก ปัญหาเกิดขึ้นเพราะแก้วกาแฟที่เรียกว่าแก้วกระดาษ ที่จริงแล้วผลิตจากวัสดุสองส่วน คือนอกจากตัวแก้วที่ทำจากกระดาษ ก็ยังมีพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เคลือบผิวอยู่ด้วยเพื่อให้ของเหลวบรรจุลงในแก้วได้ ดังนั้น ของเสียที่เกิดขึ้นจึงไม่จัดว่าเป็นประเภทกระดาษ ปัญหาอีกอย่างคือยูเครนมีโรงงานที่สามารถรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์แบบดังกล่าว เพียงหนึ่งแห่งเท่านั้นและอยู่ไกลออกจาก Lviv ทำให้ของเสียเหล่านี้ไม่ถูกหมุนเวียนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพราะไม่คุ้มค่ากับการขนส่ง สาเหตุนี้เองยังทำให้การผลิตแก้วกาแฟในแต่ละครั้งจะต้องใช้วัตถุตั้งต้นที่เอามาใหม่จากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งขัดต่อหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จากสถิติพบว่าแต่ละวันร้านกาแฟมีปริมาณขยะแก้วกาแฟสะสมรวมกัน 500 – 700 ใบ อีกสถิติหนึ่งระบุว่าผู้ดื่มกาแฟที่ซื้อจากร้าน สร้างขยะสะสมต่อคนรวมกว่า 10 กิโลกรัมในแต่ละปี ซึ่งมีปริมาณรวมกันคิดเป็น 20% ของปริมาณขยะในถังสาธารณะตามจุดต่างๆ ในเมือง

โครงการ ZeroCup สนับสนุนให้ลดการใช้แก้วกาแฟ โดยผู้บริโภคมีตัวเลือก เช่น
– พกภาชนะมาเอง โดยผู้บริโภคจะได้รับส่วนลดเมื่อซื้อกาแฟรายการละ 2 ฮริฟเนียยูเครนหรือประมาณ 2 บาทกว่าๆ ซึ่งสอดคล้องกับทั้งหลัก Reduce และหลัก Reuse
– ซื้อภาชนะแบบที่กินได้เพื่อใส่กาแฟ ซึ่งก็คือโคนไอศกรีม แต่เหมาะกับกาแฟเอสเพรสโซเท่านั้น โดยตัวเลือกนี้สอดคล้องกับหลัก Reduce
– ซื้อภาชนะใช้ซ้ำแบบชั่วคราว ที่ทางร้านจัดไว้ให้ เมื่อดื่มเสร็จแล้วก็สามารถคืนภาชนะนั้นและรับเงินคืนกลับมาในราคาที่จ่ายไปให้กับแก้วกาแฟ ซึ่งใช้หลัก Reduce และหลัก Reuse เช่นกัน

นอกจากนั้นแล้ว ทั้งสามตัวเลือกต่างก็สอดคล้องกับกลไกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือหลัก Refuse เนื่องจากเป็นการปฏิเสธการใช้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกที่ใช้กันอยู่แบบเดิม จึงทำให้ของเสียจากแก้วชนิดนี้ไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าผู้ดื่มกาแฟส่วนใหญ่ให้ความสนใจร่วมมือกับร้านกาแฟในชุมชนเป็นอย่างดี โดยผู้บริโภคนิยมเลือกพกภาชนะมาเองหรือซื้อภาชนะใช้ซ้ำแบบชั่วคราวจากทางร้านมากกว่าอีกตัวเลือก ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชน จะมีส่วนผลักดันแนวทางในการจัดการทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในยูเครนให้เกิดขึ้นได้อย่างครบวงจร

ท่ามกลาง​การเปลี่ยนแปลง​หลายด้านในศตวรรษ​ที่​ 21​ ยูเครนก็เป็น​ประเทศ​หนึ่ง​ที่กำลัง​เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบ​หมุนเวียน​ แต่กลับต้องเจอจุดเปลี่ยน​อีกครั้ง​​เมื่อเกิดสงครามที่เริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี​ พ.ศ. 2565 ทำให้การพัฒนาประเทศ​ต้องสะดุด

แม้ว่าจุดยืนที่แตกต่างทางการเมืองจะสร้างความขัดแย้งในภูมิภาค แต่สิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาคือการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพใช่หรือไม่

แหล่งข้อมูล

  1. ข้อมูลด้านทรัพยากรในประเทศยูเครน: https://www.oecd.org/countries/ukraine/Country-profile-Ukraine-2019-2020.pdf
  2. สถิติปริมาณขยะในประเทศยูเครน: https://dlf.ua/en/ukrainian-national-waste-management-strategy-until-2030-approved/
  3. เว็บไซต์บริษัท Recycling Solutions https://re-solutions.com.ua/en/o-kompanii/ เว็บไซต์โครงการ Zero Waste LVIV: https://zerowastelviv.org.ua/en/
  4. การศึกษาเรื่องโครงการ ZeroCup: https://www.ua.undp.org/content/ukraine/en/home/blog/2021/testing-circular-economy-approaches-in-ukraine-.html

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th