เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล
“คุณธีระพล ติรวศิน” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อดีตวิศวกรสิ่งแวดล้อมจากรั้วจามจุรี เริ่มต้นจากการออกแบบระบบควบคุมมลพิษให้โรงงานอุตสาหกรรม เคยบริหารกิจการและดำรงตำแหน่ง MD บริษัทด้านสิ่งแวดล้อมในเครือ SCG เข้าร่วมกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันแรกที่จัดตั้ง และดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มฯ ในวาระปีปัจจุบัน
• บทบาทและทิศทางของกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม • ความท้าทายในการยกระดับการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย • ความร่วมมือกับภาคการศึกษาและวิจัย
Q : กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม
A: “หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายการจัดการกากอุตสาหกรรมในช่วงปี 2540 ส่งผลให้ธุรกิจด้านการจัดการของเสียเกิดขึ้นตามมา กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงถูกจัดตั้งภายใต้ พ.ร.บ. ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2546 โดยสาเหตุที่รวมกลุ่มกันครั้งแรกนั้น เกิดจากปัญหาร่วมในข้อปลีกย่อยของกฎหมายที่มีจำนวนมาก ทั้งที่จริงแล้วกฎหมายออกมาเพื่อจัดการกับของเสียที่ไม่ได้ทำตามระบบหรือของเสียที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงโอกาสในการช่วยเหลือกันในธุรกิจด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรมอื่นภายในประเทศ และมีการแข่งขันกันเอง แต่อย่างไรก็ตามก็มีลักษณะที่เราต้องช่วยเหลือกันในกลุ่มอุตสาหกรรม จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา” โดยคุณธีระพลได้เริ่มทำงานกับกลุ่มฯ ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง “สมาชิกทุกคนจะมีบริษัทที่สังกัดอยู่ โดยมีความเห็นตรงกันว่าถ้าพวกเรามาร่วมกันมาช่วยกัน จะสามารถทำสิ่งที่มีประโยชน์และมีพลังได้มากกว่า และเช่นเดียวกันกับกลุ่มอื่นๆ ในสภาอุตสาหกรรมที่จะต้องมีประธานกลุ่ม ในกลุ่มฯ จึงมีการเลือกตั้งประธานกลุ่มสลับหมุนเวียนกันมา” คุณธีระพลได้สะสมประสบการณ์ในธุรกิจนี้ และปัจจุบันก็ยังทำงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ Waste และ Circular Economy ให้บริษัทในเครือฯ อยู่
Q : Background การศึกษา
A : “ผมไม่แน่ใจว่า PETROMAT รู้จักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ แค่ไหนนะครับ แต่สมัยเรียนผมก็ไม่รู้หรอกว่าเรียนอะไร (หัวเราะ)” หลังจากจบการศึกษา คุณธีระพลเริ่มต้นจากงานออกแบบ/งานก่อสร้างของระบบควบคุมมลพิษก่อนที่จะเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่น “ที่จริงโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ของประเทศไทย ผมเป็นคนออกแบบให้หลายแห่งนะครับ” โดยคุณธีระพลให้ความเห็นต่อการศึกษาของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมว่าเป็นความรู้พื้นฐานระบบการจัดการกับมลพิษปลายทาง แต่ในชีวิตจริงปัญหาด้านส่งแวดล้อมในประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการในภาพรวม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มฯ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในปัจจุบัน
Q : การบริหารจัดการของเสียแบบครบวงจรและ Circular Economy
A : “Circular Economy เป็นโมเดลที่เกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคเพื่อให้เกิดวงจรในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เมื่อ Circular Economy มาเกี่ยวพันกับธุรกิจด้าน Waste จึงเกี่ยวข้องกับหลายบริษัทในกลุ่มฯ ที่ทำธุรกิจด้านขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน และเป็นโมเดลที่สามารถนำมาใช้เป็นแกนกลางให้หลายๆ เรื่องที่จะต้องเดินหน้าต่อ
ในอดีตธุรกิจ Waste รายใหญ่ของประเทศไทยคือธุรกิจฝังกลบ รีไซเคิล และการนำไปเผาร่วมในเตาผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจรวมกันถึงร้อยละ 80-90 จึงเป็นเรื่องที่ดีในการหาจุดร่วมของธุรกิจตามโมเดล Circular Economy สามารถทำความเข้าใจได้ตรงกันว่ามีประโยชน์อย่างไร โดยก่อนหน้านี้จะมีเรื่อง ZERO Landfill เข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่เจรจากันยาก เนื่องจากธุรกิจหลุมฝังกลบจะรู้สึกว่าได้รับการต่อต้านโดยตรง ทั้งที่จริงแล้วแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังจำเป็นต้องมีหลุมฝังกลบ เพียงแต่จะลดปริมาณหลุมฝังกลบให้มากที่สุด
“ทุกบริษัทในกลุ่มฯ จึงเห็นพ้องต้องกันกับโมเดล Circular Economy และใช้เป็นแกนในการผลักดันธุรกิจต่อไป จึงเป็นจุดที่ทำให้เราคุยกันในแนวทางนี้มาตลอด”
Q : Success Case ในด้าน Circular Economy หรือ ประสบการณ์จากการดูงานในต่างประเทศ
A : “ถ้าของประเทศไทยก็มีของบริษัทในเครือ SCG กับกลุ่ม PTTGC ซึ่งมีโครงการทางด้าน Circular Economy อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในยุคเริ่มแรกในต่างประเทศที่ไปดูงานมาจะไม่ค่อยเป็น Circular Economy นะครับ (หัวเราะ) จะเป็นเรื่องของการ Recycle” คุณธีระพลได้แชร์ประสบการณ์การดูงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-town) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในครั้งล่าสุดที่ไปดูงานมีการเปลี่ยนชื่อเป็น Circular Economy ซึ่งคุณธีระพลให้ความเห็นว่าโดยพื้นฐานมาจากหลักการเดียวกัน ถึงแม้เทคโนโลยีที่ใช้จะไม่ใช่การ Upcycling ของเสียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่แต่หลายเรื่องที่ทางญี่ปุ่นทำ Recycle กันอยู่ เป็นวงจรที่เป็น Backbone ของ Circular Economy ได้
“เรื่อง Circular Economy ถ้าพูดถึงความสมบูรณ์แบบผมคิดว่ายังต้องใช้เวลาอีกมาก แต่ว่าถ้าทำแล้วสามารถใช้ประโยชน์จากของเสียและทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างคุ้มค่า ก็มีหลายอุตสาหกรรมที่ทำได้ แต่ต้องเรียนว่าทางกลุ่มฯ ไม่ได้มองในมุมของผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง จะมองในมุมของของเสียที่ต้องบริหารจัดการในภาพรวมมากกว่า”
คุณธีระพลได้ยกตัวอย่างการนำของเสียประเภทตะกอนจากโรงบำบัดน้ำเสียทั้งระบบเคมีและชีวภาพ รวมถึงสารเคมีที่เสื่อมสภาพต่างๆ ไปเป็นพลังงานทดแทนในเตาผลิตปูนซีเมนต์ว่าสามารถกำจัดของเสียได้เป็นหลักล้านตันต่อปี ซึ่งมีนัยสำคัญระดับหนึ่งเทียบกับของเสียที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
Q : การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) / นโยบายและการมีส่วนร่วม
A : “กลุ่มฯ มีการหารือกันว่าจะสนับสนุนเรื่อง Net Zero ได้อย่างไรบ้าง โดยธุรกิจของบริษัทในกลุ่มฯ สามารถที่จะคำนวณเครดิตการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในจำนวนหนึ่ง แต่การจัดการของเสียที่บำบัดกำจัดภายนอกโรงงานถือเป็น Scope3 ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังไม่ได้มีการสนับสนุนเชิงนโยบาย ซึ่งผมกำลังจะเข้าไปหารือกับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ว่ามีแนวทางให้ทำต่อไปอย่างไรได้บ้างครับ”
Q : กลุ่มฯ มองว่าภาครัฐควรสนับสนุนอย่างไร เพื่อให้ Circular Economy หรือ Net Zero สามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น
A : “เนื่องจากกว่าเราเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในเรื่อง Climate Change ต้องยอมรับว่าเราอาจจะไม่ได้เป็นกลางนัก เพราะเราก็อยากให้เกิดได้แบบจริงจัง แต่เราก็เข้าใจในเรื่องของสมดุลทางเศรษฐกิจด้วย” ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายประเทศก็ประกาศเป็นนโยบายกันมาหลายรอบ แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น และถ้าไม่มีการสนับสนุนที่จริงจัง ไม่มีงบประมาณที่สนับสนุนเข้ามาอย่างเพียงพอ มันก็เกิดยาก เพราะการจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนที่สูงมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีต้องใช้การเผาไหม้จำนวนมาก การลดตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่ทำ เราก็เชื่อว่าเราไม่สามารถจะอยู่กันได้แน่ เนื่องจากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นมาจนเข้าขั้นวิกฤติแล้ว เราก็อยากให้เกิดได้จริง ถึงแม้จะมีต้นทุนที่ทำให้กระทบความสามารถในการแข่งขันก็ตาม
“ปัจจุบัน อุตสาหกรรมด้าน Waste Management ของประเทศไทย ไม่นับว่ามีขนาดใหญ่มาก โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท ถ้านับรวมพวกอุตสาหกรรมเศษแก้ว/เศษเหล็ก จะมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ถ้าเราทำ Circular Economy หรือทำเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก ทำให้ประเทศเรามีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น อย่างน้อยต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของเราจะไม่ได้รับผลกระทบมากเหมือนทุกวันนี้” คุณธีระพลได้ให้ข้อมูลว่าการลักลอบทิ้งของเสียในไทยมีจำนวนค่อนข้างมาก การลักลอบทิ้งแต่ละครั้งมีมูลค่าเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่เมื่อ Waste ลงไปในสิ่งแวดล้อมแล้ว เกิดผลเสียหายตามมาเป็นหลักหมื่นล้านบาท
“ผมมองทั้งเรื่องของโอกาสและวิกฤติที่เกิดขึ้น ถ้าเราทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากธุรกิจ 7 หมื่นล้านบาท น่าจะเกิดโอกาสของธุรกิจที่ขยายตัวได้มากขึ้น จาก European Green Deal ที่มีกฎกติกาที่ชัดเจน ทำให้อุตสาหกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมต่างๆจะมีโอกาสมากขึ้นเนื่องจากเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถส่งออกสินค้าไปยุโรปได้ง่ายขึ้น แต่จากวิกฤติจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่เกิดขึ้น ก็ไม่แน่ใจว่านโยบายเหล่านี้จะถูกชะลอไปแค่ไหนนะครับ”
Q : นโยบาย European Green Deal
A : “European Green Deal เป็นแผนแม่บทของ EU ที่จะสนับสนุนในเรื่องของ Green Economy และ Circular Economy โดยของประเทศไทยจะมี Bioeconomy เพิ่มขึ้นมาด้วย” สำหรับแผนแม่บทนี้จะมีมาตรการออกมาบังคับให้เกิดมาตรฐานที่สูงขึ้นมา อย่างกรณีของกะทิรายหนึ่งที่เคยเป็นข่าว ที่ฝรั่งบอกว่าใช้ลิงปีนต้นมะพร้าวแล้วเป็นการทารุณสัตว์ “ผมมองว่าเอกชนของไทยจะต้องปรับตัวเพื่อที่จะค้าขายกับทางยุโรป และอาจจะเป็นมาตรฐานใหม่ในโซนอื่นๆ ของโลกด้วยเช่นกัน”
Q : PETROMAT มีโอกาสได้ร่วมงานกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่เพิ่งเปิดตัวเรื่อง “ฉลากเขียว” ออกมา สินค้าไทยที่ได้ตีตราฉลากเขียวจะได้ไปขายที่อเมริกาหรือยุโรปง่ายขึ้น
A : “เรื่องฉลากเป็นเรื่องสำคัญมากเลยนะครับ” การนำของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จะมี Supply Chain ที่ยาว ถ้าเราไม่สามารถต่อ Supply Chain ได้ครบวงจร ก็จะไม่เกิดธุรกิจนั้นขึ้นมาได้จริงๆ “ผมอยู่ในแวดวงเรื่อง Waste ผมจะเห็นเรื่องที่เกือบจะสำเร็จเยอะมาก แต่ว่าเชื่อมต่อ Supply Chain ไม่ได้” คุณธีระพลได้ยกตัวอย่างถึงวัสดุที่มาจากการ Recycle แต่มีต้นทุนที่สูงกว่าวัสดุ Virgin ก็จะแข่งขันยาก ถ้าไม่มีมาตรฐานของสินค้าเหล่านี้มารองรับ ก็จะไม่มี Handicap ที่จะแข่งขัน นอกจากนี้คุณธีระพลได้เห็นถึงความพยายามของหลายหน่วยงานที่จะทำตราสัญลักษณ์ออกมาทั้ง SCG และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณธีระพลอยู่ในคณะทำงานด้วย มีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องตราสัญลักษณ์แต่ยังทำไม่สำเร็จ โดยอุปสรรคใหญ่คือปัญหาในการแข่งขัน หรือผลิตวัตถุดิบออกมาได้ก็ไม่มี มอก. รองรับ จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องตามแก้กันต่อไป
Q : ด้วยลักษณะหน่วยงานของไทยการจะออกผลิตภัณฑ์สักชิ้น มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานและการทดสอบจำนวนมาก
A : “แต่ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยเราสู้ได้นะครับ ผมอยู่ในหลายกลุ่มที่มีการจะนำของเสียไปใช้ประโยชน์ ทำให้เห็นว่าคนไทยคิดนอกกรอบและมีความเป็นไปได้สูง แต่พอปฏิบัติจริง ก็จะติดตรงนั้น ตรงนี้” คุณธีระพลได้พูดถึงบริษัทที่นำกล่องนมมาผลิตเป็นหลังคาและเฟอร์นิเจอร์ ต้องลงทุน ล้มลุกคลุกคลาน โดยไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ เป็นการทำโดยต้องแข่งขันกับวัสดุทั่วไป มีต้นทุนที่สูงกว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องยากทั้งหมด ทั้งที่จริงเป็นโครงการที่ดีสามารถลดขยะได้จำนวนมาก
Q : ดีไซเนอร์ไทยเก่ง มีผลิตภัณฑ์ออกมามาก แต่คนส่วนใหญ่มองสินค้า Eco Design หรือสินค้าที่ทำจากวัสดุเหลือทิ้งว่าเป็นของแพงและหาซื้อค่อนข้างยาก จะมีบางห้างสรรพสินค้าที่จัดโซน Eco Product
A : คุณธีระพลได้พูดถึง “รียูสเซ็นเตอร์” ของประเทศฟินแลนด์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร โดยจะเปิดรับบริจาคเสื้อผ้าและสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำมาซ่อมแซมและจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้ามือสอง ที่ชื่อว่า “Kierratyskeskus” ซึ่งจะมีสินค้าหลากหลายตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า หนังสือ ของเล่น ของใช้ภายในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ “ผมอยากทำสำหรับเมืองไทยนะครับ มีสินค้าหลายอย่างที่เราทำแบบนี้สำเร็จแล้ว น่าจะทำตลาดได้ แต่อย่างที่ผมบอก นอกจากจะต้องฝ่าด่านและผลิตจนสำเร็จแล้ว ยังมีด่านด้านการตลาดอีกนะครับ”
Q : สิ่งที่อยากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
A : “อาจจะต้องมี Handicap ให้กับสินค้าพวกนี้สักนิดนึง ได้การลดภาษีบ้าง ตรงนี้จะทำให้การ Upcycling ต่าง ๆ เกิดได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ถ้าถามว่าการนำฐานภาษีมาใช้เรื่องนี้ เป็นการผิดฝาผิดตัวหรือไม่ ผมว่าไม่ผิดนะครับ เพราะถ้ามองกันดีๆ จะเป็นการลดการนำเข้าวัตถุดิบของประเทศ กลไกตรงนี้จะทำให้ผู้ผลิตพอที่จะสู้ไหว”
Q : กฎหมายต่างประเทศที่สนับสนุน Circular Economy อย่าง Extended Producer Responsibility (EPR) ควรนำมาใช้กับประเทศไทยหรือยัง
A : “ผมรอเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่นะครับ เราตั้งเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2540 ผ่านมา 25 ปีแล้วครับ ประเทศเวียดนามทำหลังเรา 10 ปี แต่ประกาศใช้ไปนานแล้วนะครับ” ในส่วนของ EPR คุณธีระพลมองว่าเป็นอีกทางออกหนึ่ง โดยเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำร่องมาจะกลายเป็นแนวทางให้กฎหมายอื่นๆ “คนในวงการอย่างพวกผม ส่วนใหญ่จะพูดว่า เดี๋ยวเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกมา เรื่องอื่นก็จะมีต้นแบบแล้ว แต่ตอนนี้ไม่อยากรอแล้วครับ (หัวเราะ)” ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ลองทำโครงการต้นแบบ EPR ออกมาใช้ในภาคเอกชนก่อน ถ้าเอกชนสนับสนุนกันเองในของเสียบางประเภทจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ตาม โมเดลนี้ยังไม่เกิดความสามารถในการแข่งขันเนื่องจากภาระจะไปลงที่ผู้ผลิต เพียงแต่การเริ่มต้นที่ผู้ผลิตจะสามารถส่งต่อไปที่ผู้บริโภคได้ สุดท้ายแล้วการใส่ค่าใช้จ่ายลงไปที่ผู้บริโภค ไม่ได้ทำให้การเปรียบเทียบระหว่างสินค้า Recycle และสินค้าทั่วไป เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยคุณธีระพลให้ความเห็นว่าอยากจะเห็นสิทธิทางด้านภาษีหรือสิทธิจากการใช้สินค้าประเภทนี้จากภาครัฐมากกว่า ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นแรกๆ ที่จะทำได้เร็ว แต่ในชีวิตจริง การที่ภาครัฐลงทุนสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก
Q : ปัจจุบัน PETROMAT ได้ทำโครงการวิจัยด้าน Circular Economy มากขึ้น มีโครงการที่ทำร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นการนำร่องใช้เทคโนโลยี Circular Economy มาสร้าง Business Model ในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับ SMEs โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และอีกโครงการวิจัยหนึ่งที่ทำร่วมกับกลุ่มฯ ของคุณธีระพลในการนำ Circular Economy มาใช้จัดการกากของเสียอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ทางกลุ่มฯ คาดหวังกับโครงการนี้อย่างไร และเป้าหมายของกลุ่มฯ ในอนาคต
A : “จุดสำคัญอยู่ที่เรื่องต้นทุน โดยสัมพันธ์กับเทคโนโลยีที่นำมาใช้และความรู้ในการบริหารจัดการที่ถูกต้อง” ทางกลุ่มฯ ต้องขอขอบคุณ PETROMAT และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ที่มาช่วยกันทำโครงการนี้ เพราะเราคิดเรื่องนี้กันมานาน แต่วิชาการและธุรกิจบางครั้งก็ไม่ได้ไปด้วยกัน โดยโจทย์ของโครงการนี้ เริ่มจากการมองในมุมของผู้ที่อยู่ในตลาดหรือธุรกิจนี้จริงๆ ว่าในฐานะของผู้ที่ถือ Waste ของประเทศรวมกันประมาณร้อยละ 70-80 ต้องการการสนับสนุนในเรื่องอะไร มีข้อมูลว่าเทคโนโลยีอะไรเหมาะสมกับกากอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ซึ่งจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีแนวทางในการปรับตัวจาก Linear Economy เป็น Circular Economy หรือควรนำเข้าเทคโนโลยีใดจากผู้ที่ทำมาก่อน เพื่อปรับตัวให้เข้ากับทิศทางของโลกและเกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด
ขอขอบคุณ คุณธีระพล ติรวศิน เป็นอย่างสูง ที่ให้เกียรติในการให้สัมภาษณ์ลงคอลัมน์ Interview ใน PETROMAT Today Online สำหรับโครงการ “แนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ทำร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ท้าทายสำหรับ PETROMAT เช่นกัน ที่ทำงานแบบมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมีการลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงร่วมกันจริงๆ ต่างจากปกติที่ PETROMAT รับโจทย์มาและดำเนินการวิจัยฝ่ายเดียว ถ้าโครงการนี้สำเร็จเมื่อไหร่ คงจะต้องรบกวนคุณธีระพลเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ Impact ของโครงการฯ อีกสักครั้ง และ PETROMAT หวังว่าจะได้ร่วมมือในโครงการอื่นๆ กับทางกลุ่มฯ ต่อไป