โครงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำร่องพาประเทศสู่อุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยมาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ.2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
โครงการนี้ประกอบด้วยสองโครงการย่อย โดยโครงการย่อยที่ 1 : มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับ SMEs มีศูนย์ฯ เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับนักวิจัยในเครือข่ายสถาบันร่วมของศูนย์ฯ และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 10 แห่ง เพื่อพัฒนาต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมด้านพลาสติก ซึ่งมีการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิต รวมถึงการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ
• การพัฒนาเครื่องเจาะและบีบอัดขวดสำหรับการขนส่งพลาสติกรีไซเคิล
• การต่อยอดวิธีการขึ้นรูปถุงบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ซึ่งผลิตจากพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแล็กติกแอซิด โดยใช้เครื่องเป่าฟิล์มพอลิเอทิลีน ซึ่งมีใช้อยู่ในอุตสาหกรรมเดิม
• การปรับปรุงการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับรถยนต์ให้ได้คุณภาพมากขึ้น เพื่อลดปริมาณสินค้าที่มีตำหนิ
• ถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะเห็ด
• พลาสติกต้านทานไฟฟ้าสถิต ซึ่งผลิตจากพอลิโพรพิลีนที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตสินค้า
• ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติ ซึ่งผลิตจากเศษพลาสติกกลุ่มพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต
• ท่อน้ำสำหรับการเกษตร ซึ่งผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลชนิดพอลิไวนิลคลอไรด์
• ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ซึ่งผลิตจากของเสียประเภทไบโอพลาสติก ขยะพลาสติก เศษโฟม ฯลฯ
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้ร่วมมือกับกรมโรงงานฯ ในการจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Coach) เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
กิจกรรมการบรรยายเรื่อง Recent R&D Progress in Polymers at PETROMAT โดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ซึ่งจัดขึ้นในงาน Downstream Thailand Summit 2022 ณ โรงแรม Holiday Inn เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565