
เรื่องโดย ณัฐวดี เสริมสุข
การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเป้าหมายที่สำคัญของหลายองค์กรทั่วโลก หนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ “Carbon Credit (คาร์บอนเครดิต)” บทความนี้พาไปทำความรู้จักกับขั้นตอนและวิธีการต่างๆ ที่จำเป็นในการได้รับคาร์บอนเครดิตรวมถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ควรทราบ
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร
เป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาร์บอนเครดิตสามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ คาร์บอนเครดิตมีหลายประเภทตามกลไกลดก๊าซเรือนกระจกที่ดำเนินการ เช่น คาร์บอนเครดิตจากกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ หรือคาร์บอนเครดิตมาตรฐานประเทศไทยจากโครงการ T-VER ที่ TGO ให้การรับรอง เป็นต้น

โครงการ T-VER: เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิตอย่างไร
- มีชื่อเต็มว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program)
- เป็นกลไกลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ
- โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากโครงการ T-VER จะเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปใช้รายงานหรือใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล การจัดงานอีเวนต์ และจากการผลิตผลิตภัณฑ์ ภายในประเทศไทยได้เท่านั้น
- TGO จะเป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากโครงการ T-VER
- กิจกรรมที่จะพัฒนาเป็นโครงการ T-VER ต้องเป็นกิจกรรมที่ยังไม่เริ่มดำเนินการ หรือเริ่มดำเนินกิจกรรมย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ยื่นเอกสารครบถ้วนต่อ TGO (ยกเว้นโครงการประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียว)

ขั้นตอนการพัฒนาโครงการ T-VER เพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต
การพัฒนาโครงการ T-VER ประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือ (1) ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER (2) ขั้นตอนการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาโครงการ T-VER ยื่นมายัง TGO เพื่อขอขึ้นทะเบียนหรือรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก รายละเอียดขั้นตอนการพัฒนาโครงการ T-VER ในภาพรวม แสดงดังรูป

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต
หลังจาก TGO ให้การรับรองคาร์บอนเครดิตเรียบร้อยแล้ว ผู้ประสงค์จะเข้าสู่ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตต้องดำเนินการขอเปิดบัญชี T-VER Credit กับทาง TGO โดยต้องดำเนินการจัดส่งเอกสารตามเงื่อนไขที่ทาง TGO กำหนด เพื่อขอเปิดบัญชีสำหรับการซื้อขายในระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต (T-VER Registry)แต่ปัจจุบันระบบ T-VER Registry อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบชั่วคราว กรณีผู้ที่ประสงค์จะขายคาร์บอนเครดิตสามารถดำเนินการได้ ดังนี้

สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต สามารถสอบถามไปยังเจ้าของคาร์บอนเครดิตได้โดยตรง ตามช่องทางติดต่อในเอกสารโครงการ http://ghgreduction.tgo.or.th/tver-database-and-statistics/t-ver-registered-project.html
แหล่งข้อมูล
[1] https://ghgreduction.tgo.or.th/th/about-tver/tver-type.html
[2] https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-step/tver-development-step.html
[3] https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-step/tver-account-credit.html
[4] https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-step/tver-carbon-trading-procedure.html