สร้างธุรกิจยั่งยืนด้วยการรีไซเคิล

เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล

“รีไซเคิล” เทคโนโลยีการนำของเสียหรือวัสดุที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการแปรรูปหรือปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้ของเสียกลับมามีคุณภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงของเดิม หรือให้ได้วัตถุดิบใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ทดแทนใหม่

ถ้าอยู่ในยุค Y2K คำว่า รีไซเคิล จะเป็นคำศัพท์ใหม่ ที่น้อยคนจะรู้ความหมาย แต่ในปัจจุบันที่ผ่านมากว่า 20 ปี รีไซเคิลเป็นคำที่ใครๆ ก็พูดถึง และใช้เป็นแนวทางและคำตอบสำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะ จนถึงนโยบาย BCG

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้ประกอบการจำนวนน้อยมากที่นำการไซเคิลไปใช้ในธุรกิจจริงๆ และยิ่งน้อยลงไปอีก ถ้าจะหาผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลเป็นหลัก นับเป็นโอกาสดีอย่างมาก สำหรับ PETROMAT Today ที่ คุณปฏิการ มหัทธนารักษ์ CEO บริษัท รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์และแนะนำแนวทางในการรีไซเคิลให้ประสบผลสำเร็จ ผ่านบทสัมภาษณ์ครั้งนี้

PETROMAT : ก่อนอื่นอยากให้คุณปฏิการช่วยเล่าประวัติและความเป็นมาคร่าวๆ ในการเข้ามาสู่วงการ Waste Management และที่มาของ บริษัท รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

คุณปฏิการ: บริษัท รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ถ้าจะเล่าละเอียดคงจะใช้เวลามาก  ดังนั้นผมขอเล่าย่อๆ เท่าที่เป็นปัจจัยสำคัญนะครับ เดิมผมทำงานที่บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด การอยู่ที่เชลล์ทำให้ผมรู้จักตัวทำละลาย (Solvent) ต่างๆ นอกจากนี้ ผมเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมเคมี จึงทำให้ผมรู้ถึงกระบวนการเคมี และจากประสบการณ์ทำงานที่เชลล์ทำให้ผมรู้ด้านการตลาดด้วย ผมจึงมีความรู้ครบถ้วน จุดกำเนิดของบริษัทฯ มาจากการที่ผมทำมาค้าขายกับโตโยต้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ขณะนั้น โตโยต้าประเทศไทยมีการใช้เครื่องจักรเล็กๆ ในการทำรีไซเคิล ซึ่งที่ญี่ปุ่นยังไม่มีนะครับ จึงทำให้ผมเห็นประโยชน์และได้ขยายผลไปสู่การรีไซเคิลให้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและเห็นถึงคุณค่าในการทำรีไซเคิล ซึ่งทำให้เขาได้ประโยชน์ในการประหยัดงบประมาณจำนวนมาก ผมเริ่มทำรีไซเคิลก่อนที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีระเบียบออกมา ในช่วงปี พ.ศ. 2541-2542 ผมขอการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) ซึ่งขณะนั้น BOI เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อผมเริ่มทำเรื่องรีไซเคิลจึงได้รับการตอบรับที่ดี สามารถขยายผลได้เร็ว ประกอบกับสังคมใหญ่ยังมีพัฒนาการที่ช้าในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยประเด็นสำคัญคือเรื่องการประหยัดงบประมาณ เรื่องสิ่งแวดล้อมยังเป็นผลพลอยได้ เอาสั้นๆ เท่านี้ก่อนครับ

PETROMAT : หลังจากที่จัดการ Solvent ตัวแรกให้โตโยต้า ทำให้เกิดบริษัท รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ขึ้นมาแล้ว ทางบริษัทฯ มีการขยายผลไปกำจัดของเสียด้านอื่นๆ อย่างไรบ้าง

คุณปฏิการ: ในปี พ.ศ. 2546 ผมมาเริ่มต้นเรื่อง Lab Waste ซึ่งไม่ได้ทำกำไรมากมายอะไร แต่มาจากที่ผมมี Partner เป็นคนเยอรมันที่คลุกคลีกับบริษัทในประเทศเยอรมันซึ่งบริษัทที่สำคัญ คือ Merck ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยอรมัน ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดด้านสารเคมีที่ใช้วิเคราะห์ทดสอบ (Reagent) อยู่ 40% นับว่าเป็นรายใหญ่ ซึ่งมีการจัดการที่ดีและผมมีโอกาสไปดูงานมา จึงมีความคิดว่าเราน่าจะนำความรู้มาช่วยจัดการให้มหาวิทยาลัยได้อย่างไร ผมก็นึกถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่แรก ทุกวันนี้ผมก็ทำงานจัดเก็บของเสียเคมีจากห้องปฏิบัติการให้กับจุฬาฯ ทั้งหมด

เรื่อง Lab Waste เป็นความภูมิใจของผม เพราะเป็นงานที่ผมทำความสำเร็จให้กับประเทศโดยที่ไม่ต้องมาเขียนกฎหมาย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่วิธีเดียวในการแก้ปัญหา แต่เป็นการบริหารจัดการที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการของทุกฝ่าย อย่างเรื่อง Lab Waste นั้น ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการขยายได้เร็วในเครือข่ายมหาวิทยาลัย และทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ช่วยผลักดันให้มี Option ในการจัดการ Lab Waste ทุกคนอาจจะคิดว่าถ้าไม่มีภาครัฐช่วยจัดการจะดำเนินการไม่ได้ แต่สำหรับผม ถ้ามีความคิดตั้งใจที่จะทำ ต่อให้ไม่มีกฎเกณฑ์รองรับผมก็ทำให้ ถ้าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ปัจจุบัน ผมมีลูกค้าด้าน Lab Waste ประมาณ 400 รายทั่วประเทศ มีปริมาณ Waste กว่า 1,000 ตันต่อปี โดยในช่วงหลังภาคเอกชนเข้ามาใช้บริการกันมากขึ้นและทำรายได้ให้มากกว่ามหาวิทยาลัยและราชการ อย่างกรมโรงงานฯ หรือกรมควบคุมมลพิษ ผมถือว่าเป็นการช่วยสนับสนุน ไม่อย่างนั้นจะนำ Waste ไปทิ้งที่ไหน เนื่องจากปริมาณน้อย ไม่มีคนรับทำ

ปัจจัยสำคัญของการทำรีไซเคิล คือ ต้องมี Volume เพราะถ้าไม่มี Volume จะทำกำไรได้ยากและเติบโตได้ยาก ทุกวันนี้ ผมต้องหันมารับงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงมี Volume นอกจากทำรีไซเคิลแล้ว ผมยังทำสารเคมีใหม่ให้ลูกค้าได้ด้วย การที่เรามีรายได้และตั้งตัวได้มาจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีมาตรฐานที่สูงและมีงานให้เราทำ ทั้งหมดนี้คือความ Success ของบริษัทฯ

อย่างไรก็ตาม ในวงการนี้ก็มีเรื่องของการแข่งขัน ถ้าระดับกลุ่มปูนซีเมนต์ เขาเข้าใจการจัดระบบตามลำดับขั้น (Hierarchy) ให้ความสำคัญ (Priority) กับการทำรีไซเคิลก่อน ถ้ารีไซเคิลไม่ได้จึงค่อยนำไปเผาหรือนำไปฝัง แต่ถ้าเป็นกลุ่มโรงงานขนาดเล็กอาจจะอ้างว่าทำรีไซเคิลแต่ทำไม่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งภาครัฐอาจจะมีมุมมองเรื่องนี้ไม่เหมือนกับผม วันนี้ถือโอกาสคุยให้ PETROMAT ฟัง ถ้าเห็นพ้องในเรื่องการทำรีไซเคิลจะต้องมี “การบูรณาการ” หมายความว่า ภาครัฐ ผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัย ต้องมาคุยกัน ซึ่งผมวางแผนว่าจะให้ทางเยอรมันช่วยเป็นสปอนเซอร์ โดย PETROMAT ช่วยประสานงานเพราะถือว่าเป็นคนกลาง ในการจัดสัมมนาเรื่องรีไซเคิล คือ 20 ปีที่ผ่านมา เราสำเร็จขนาดไหน เราควรจะเหลียวหลังและแลหน้า ในส่วนที่เราทำแล้วไม่ได้ผล เราก็ต้องมาทบทวนใหม่ ต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการอย่างไร ถ้าเราจะเดินไปข้างหน้าตามแนวทาง BCG ซึ่งผมรู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่ยังไม่ได้บูรณาการกัน ผู้ประกอบการต้องคุยกันว่าจะรีไซเคิลวัตถุดิบอะไร ภาครัฐต้องออกระเบียบสนับสนุนอย่างไร เพื่อให้ได้ผลจริง

PETROMAT : นอกจากปัจจัยด้าน Volume ของวัตถุดิบที่จะรีไซเคิลแล้ว การที่บริษัท รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด สามารถทำการรีไซเคิลได้ตามมาตรฐาน ISO ในขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่สามารถทำได้ แสดงว่าเทคโนโลยีด้านรีไซเคิลมีการพัฒนาอย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการรับทราบถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบที่คุณปฏิการอยากให้มีการจัดสัมมนาเพื่อให้เกิดการบูรณาการ

คุณปฏิการ: เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ บังเอิญว่าผมมีชาวเยอรมันที่มีประสบการณ์ทำงานในประเทศเยอรมันมากว่า 20 ปี เนื่องจากเขาเริ่มเบื่องานที่เยอรมันและได้มาเจอผม ทำให้ผมได้องค์ความรู้จากเขามา ได้เรียนรู้ว่าต้องมีอุปกรณ์เพิ่มเติมอย่างไร ทำให้ผมสามารถยกระดับทำของที่มีคุณภาพสูงขึ้น แน่นอนว่าในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมเยอรมันถือว่าเป็นเบอร์หนึ่ง เริ่มทำด้านนี้มาก่อนใคร ตอนนี้มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาคุยกับผม แต่เทคโนโลยีของญี่ปุ่นยังสู้ของเยอรมันไม่ได้ แต่ในอนาคตก็เป็นไปได้ที่ผมจะร่วมมือกับทางญี่ปุ่นเพิ่มเติม ที่ถามมาว่าทำไมผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐาน เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดเล็กจะไม่มีทุนมากพอ การทำรีไซเคิลนั้น ไม่ใช่การซื้อเครื่องจักรสำเร็จรูปมาใช้งานได้ ผมก็ต้องสร้างเครื่องจักรเอง อย่างญี่ปุ่นมาติดต่อผมเสนอขายเครื่องจักรราคาหลายสิบล้านบาท ผมก็ต้องปฏิเสธ เพราะผมสร้างเครื่องจักรใช้เองด้วยงบประมาณไม่ถึงสิบล้านบาท การยกระดับคุณภาพในประเทศ ปัจจัยสำคัญคือความรู้ต้องมาก่อน คุณมีความรู้จริงหรือไม่ คุณไม่มีทุนก็ต้องหาแหล่งเงินกู้ที่เขาเชื่อมั่นคุณ แต่ถ้าคุณลงทุนสูงก็ต้องดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สามารถการทำรีไซเคิลได้ ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลที่ผมทำนั้น คุณภาพเทียบเท่าของใหม่ แต่คิดราคาต่ำกว่าของใหม่อย่างมาก อย่างบางบริษัทถ้าซื้อสารเคมีใหม่ราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม ถ้ามารีไซเคิลกลับไปใช้คิดราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม แต่บริษัทเขาต่อรองผมเหลือ 22 บาทต่อกิโลกรัม และตลอด 20 กว่าปีต่อมา ผมก็ยังยืนราคาเดิม ผู้ประกอบการรายอื่นจะยอมอย่างผมหรือไม่ แต่ก็มีสารเคมีตัวอื่นที่ได้ราคาดี แต่ราคาดีก็คือครึ่งราคาเทียบกับของใหม่และสามารถนำไปใช้แทนของใหม่ได้ ลองคิดดูว่าบริษัทเขาประหยัดไปเท่าไหร่ ผมไม่ได้เอาเปรียบใครเลยและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมของเขาเก็บของใช้แล้วให้ดีเพื่อมารีไซเคิลได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องมี Volume นะครับ

PETROMAT : ความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือนโยบายส่งเสริมการลงทุนมีความจำเป็นต่อธุรกิจรีไซเคิลหรือไม่ ถ้ามีความจำเป็น ในมุมมองของคุณปฏิการต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนอย่างไร

คุณปฏิการ: ประการแรก เจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้าใจก่อนว่าการรีไซเคิลได้หรือไม่ได้ มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอะไร ไม่ใช่ว่าจะทำตามกระแสอย่างเดียว ต้องรู้ก่อนว่าของที่ต้องการรีไซเคิลมี Volume เพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่มี Volume ก็ไม่คุ้มที่จะรีไซเคิล สิ่งที่ยากคือ เมื่อรีไซเคิลแล้ว จะไปขายให้ใคร ถ้าไม่มีคนใช้งาน รีไซเคิลไปก็ไม่มีประโยชน์ ต้องมี Volume มีเทคโนโลยี มีที่ขาย มีกำไร ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน และต้องเข้าใจว่ารีไซเคิลแล้ว ต้องมี Waste ผมไม่สามารถรีไซเคิลกลับไปเป็น Product 100% ได้ อีกเรื่องที่สำคัญมาก ของที่จะนำมารีไซเคิลต้องผ่านการควบคุมคุณภาพ (Quality Control, QC) ซึ่งแตกต่างจากการ QC ของใหม่ ภาครัฐต้องกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อส่งเสริมคนที่รู้เรื่องรีไซเคิลในการทำมาหากิน และป้องกันคนที่ไม่รู้เรื่องการรีไซเคิลมาสวมรอยเอาไปกิน รัฐต้องเพ่งเล็งจุดนี้ ถ้าเปิดโอกาสให้คนไม่รู้เรื่องรีไซเคิลเข้ามา จะเป็นการแย่งของใช้แล้วในตลาดไปจากคนที่รู้เรื่องการรีไซเคิล เรื่องแบบนี้ในสังคมมีมากมาย ใครๆ ก็อยากจะทำธุรกิจ อยากทำมาหากิน มีเจตนาดีแต่ไม่มีความสามารถ

PETROMAT : จากที่คุณปฏิการกล่าวมา คนที่จะเข้ามาในธุรกิจรีไซเคิลต้องมีความรู้และความเข้าใจ ปัจจุบันกำลังคนที่ผลิตจากภาคการศึกษามีปริมาณเพียงพอและตรงความต้องการหรือไม่

คุณปฏิการ: ในยุคที่บริษัทฯ เกิดขึ้นมาใหม่ๆ เป็นยุควิกฤติเศรษฐกิจ สามารถหาคนได้ง่าย นอกจากนี้ผมยังโชคดีที่คนที่ผมสร้างไม่มีใครแตกออกไปเป็นคู่แข่งของผม การมีคู่แข่งจะทำให้ปัญหาเรื่องการจัดการให้มีคุณภาพจะยากขึ้น เพราะว่าทุกคนต้องพยายามเอาตัวรอดและสร้างกำไร เมื่อผมมีโอกาสในการสร้างคน สร้างระบบ สร้างทุกอย่าง ทุกวันนี้ผมก็ยังนั่งอยู่ที่โรงงาน และโชคดีอีกเรื่องคือมีชาวเยอรมันเข้ามาช่วยผมดูแลเรื่องเทคนิค ทำให้ธุรกิจเดินไปได้ ธุรกิจมีกำไร สามารถขยายธุรกิจและให้ค่าตอบแทนกับพนักงานในระดับที่พอไปได้ ผมคิดว่าเราต้องเขียนคู่มือเป็นแนวทางให้คนที่มาทีหลังปฏิบัติ เพราะเรามีประสบการณ์สะสมไว้ทุกด้าน มีหน่วยงานวิจัย การที่เราจะทำของเสียเป็นของดีต้องมีการวิจัยก่อน ตอนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ปัจจุบันบริษัทฯ เราสร้างเครื่องจักรเอง พนักงานของเราทำเป็นหมด ทั้งที่ในยุคแรกผมยังไปปรึกษาอาจารย์ที่วิศวกรรมเคมีเลยว่า วิศวกรของเราทำได้แต่กดปุ่มเหรอ วิศวกรของเราต้องสร้างเครื่องจักรเองได้ ทุกวันนี้วิศวกรรุ่นใหม่ๆ จะสร้างเครื่องจักรเป็น ทั้งที่วิศวกรรุ่นเก่าๆ สร้างเครื่องจักรไม่เป็นนะครับ อย่าง PETROMAT ก็น่าจะต้องดูเรื่องนี้

PETROMAT : ขอคำแนะนำสำหรับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาในการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนที่ทำธุรกิจด้านรีไซเคิล

คุณปฏิการ: ในความเห็นผมนะครับ ภาคการศึกษายังเป็นตัวแปรที่จำเป็นอย่างแน่นอน เรื่องแรกคือภาคการศึกษาทำด้านวิชาการ เรื่องที่สองคือภาคการศึกษาไม่ได้ผูกพันกับเรื่องผลประโยชน์ สามารถนำเสนอตามข้อเท็จจริง และยินดีรับฟังทุกฝ่าย เพราะฉะนั้น ผมจึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะศูนย์ความเป็นเลิศอย่าง PETROMAT มีบทบาท ซึ่งการมีบทบาทตรงนี้จะต้องมีผู้สนับสนุนด้านค่าใช้จ่าย ต้องมีการจัดงานเพื่อให้ศูนย์สามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ โดยทุกวันนี้ การใช้ระบบ Video Conference เข้ามาช่วยจะทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมพร้อมที่จะร่วมสัมมนา แต่ทาง PETROMAT จะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาจัดงานร่วมกัน แบบนี้จะทำให้ PETROMAT ได้ไอเดียที่ดีๆ ผมมองว่าการที่จะมองหลายด้านนั้น บางครั้งต้องมองไปมองมา ต้องรับฟังความเห็นจากคนอื่น เพื่อนำมาคิดพิจารณาสิ่งที่คนอื่นเสนอมาว่าถูกต้องหรือไม่ ผมไม่ได้บอกว่าที่ผมพูดออกไปครั้งเดียวเป็นเรื่องถูกต้อง บางครั้งถูกคนอื่นท้วงติงมา พอนั่งคิดก็เห็นว่าเป็นเรื่องจริง PETROMAT ควรเป็นคนกลางที่จะรวบรวมและประเมินความคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพของผลประโยชน์โดยรวมและนำมาตั้งเป็นโจทย์วิจัยในการแก้ปัญหาหรือจัดการปัญหานั้นได้อย่างไรต่อไป

ขอขอบคุณ คุณปฏิการ มหัทธนารักษ์ ที่สละเวลามาให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจรีไซเคิล และแนะนำ PETROMAT ในการเป็นคนกลางที่จะบูรณาการภาคส่วนต่างๆ ผ่านการสัมมนา เพื่อให้เกิดการนำรีไซเคิลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th