BioNext: Startup by PETROMAT

โลกในยุคทุนนิยมถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสเงินตรา สนามการค้าไม่ต่างจากสนามรบ แม้แต่ในสงครามก็อาจมีเบื้องหลังเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการค้า ในยุคสมัยที่ธุรกิจต่างๆ ถูกจับจองโดยนักลงทุน ผู้ประกอบการ เจ้าสัว หรือบริษัทข้ามชาติ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ยากที่ธุรกิจขนาดเล็กจะยืนหยัดท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงได้ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่กลายเป็นมนุษย์เงินเดือนแทนที่จะเป็นผู้ประกอบการ  แต่กลับมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ทิ้งความฝัน มีความทะเยอทะยาน มั่นใจในความรู้และผีมือ มีความหลงใหลในบางสิ่งบางอย่าง อุทิศทั้งชีวิตให้กับความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า สร้างธุรกิจใหม่ที่ตนเองสามารถขึ้นเป็นผู้นำ ท้าทายธุรกิจเดิมๆ “Startup” จึงถูกนำมาใช้เรียกธุรกิจเหล่านี้

“Startup” เป็นธุรกิจที่เริ่มจากขนาดเล็กมากๆ จดทะเบียนบริษัทโดยคนไม่กี่คน แต่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพูดถึง Startup ไม่ว่าจะสืบค้นข้อมูลจากที่ไหนก็ตาม จะต้องมีการกล่าวถึง Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และยกกรณีศึกษาของ Amazon, Google, Facebook, Instagram เป็นต้น ขึ้นมาอธิบายธุรกิจ Startup จากอเมริกาย้ายมาฝั่งเอเชีย Grab เป็นอีกหนึ่ง Startup ที่น่าสนใจ บริษัทจากสิงคโปร์ ที่ให้บริการเรียกรถ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ รับส่งผู้โดยสาร ส่งพัสดุ และสั่งอาหาร ผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ ซึ่งถูกจริตผู้ใช้งานย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนล้มต้นแบบจากสหรัฐอเมริกาอย่าง Uber ได้ในภูมิภาคนี้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มี Startup เกิดขึ้นจำนวนมากเช่นกัน โดยมีบริษัทที่โดดเด่นและมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก อาทิ Bitkub แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มี คุณท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เป็นผู้ก่อตั้ง ในยุคหนึ่งที่กระแสของสินทรัพย์ดิจิทัลมาแรง สปอร์ตไลท์จากทุกสื่อพร้อมใจกันส่องแสงไปที่ Bitkub ส่งผลให้คุณท็อปกลายเป็นไอดอลของนักลงทุนรุ่นใหม่ วัยรุ่นสร้างตัว ที่อยากเป็นอายุน้อยร้อยล้าน โดยปัจจุบันยอดความนิยมของ Bitkub ก็ซาลงตามกระแสของสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ทิศทางของสินทรัพย์ดิจิทัลยังต้องจับตาดูกันต่อไป อีกบริษัทที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Flash Express ของคุณคมสันต์ ลี ที่ให้บริการจัดส่งอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร Flash Express เติบโตอย่างรวดเร็วจากกระแสความนิยมของตลาดอีคอมเมิร์ซและสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ Flash Express เป็นยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี Startup ไทยที่น่าสนใจอีกมาก เช่น GoWabi, Hungry Hub, iTAX Thailand, QueQ, Ricult Thailand, Shippop, StockRadars, ViaBus, Zipevent, LINEMAN Wongnai เป็นต้น

จากตัวอย่าง Startup ข้างต้น คุณลักษณะร่วมที่ทำให้ Startup ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างรวดเร็ว มี 2 ข้อคือ

1) Repeatable สามารถแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้โดนใจจนต้องกลับมาใช้ซ้ำ เช่น Grab ที่แก้ปัญหาการเรียกใช้บริการแท็กซี่แล้วเจอข้ออ้างต้องส่งรถหรือแก๊สหมด เลือกผู้โดยสาร LINEMAN Wongnai ที่ให้ข้อมูลร้านอาหารจากกลุ่มลูกค้าจริงๆ เพื่อการตัดสินใจและสามารถสั่งอาหารมาส่งถึงที่ได้อย่างสะดวกสบาย ViaBus ที่ทำให้เรารู้ตำแหน่งรถเมล์สายที่เรารอแบบเรียลไทม์ QueQ ที่ทำให้เราไม่ต้องไปรอต่อคิวหน้าร้านค้า เป็นต้น

2) Scalable สามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นโชคดีที่ในปัจจุบันที่แทบทุกคนจะต้องมีสมาร์ทโฟนและเข้าถึง Internet ได้ ทำให้ธุรกิจที่อยู่บนแพล็ตฟอร์มดิจิทัลสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและใช้ต้นทุนไม่สูงนัก หรืออย่าง Flash Express ที่สามารถเพิ่มจำนวนสาขาได้อย่างรวดเร็ว

ถึงจุดนี้หลายคนคงมองว่าเส้นทางของ Startup นั้นโรยด้วยกลีบกุหลาบ ยิ่งอยู่ในยุคที่ผู้คนเข้าถึง Social Network ได้ง่าย ใครๆ ก็อยากจะเป็นเจ้าของ Startup มีช่องทางรับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะภาครัฐมีนโนบายส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในภาคการศึกษามาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์  แต่ในความจริงแล้ว Startup กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเดินต่อได้และต้องปิดตัวลง Startup ที่เกิดจากงานวิจัยของภาคการศึกษามีจำนวนน้อยมาก สาเหตุมาจาก ผลงานวิจัยที่ดีและมีประโยชน์ในมุมมองของนักวิจัย พอไปผลิตเป็นสินค้าแล้วไม่มีคนซื้อ

PETROMAT ได้ดำเนินการผลักดันและยกระดับงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์เช่นกัน โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ ได้เกิด Startup ที่จดทะเบียนในชื่อ บริษัท ไบโอเน็กซ์ จำกัด หรือ BioNext ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เรือธงอย่าง CELLO-GUM เป็นตัวนำร่องในการทำการตลาด สำหรับความเป็นมาของ BioNext จะขอสรุปจากการเสวนาหัวข้อ  “เบื้องหลัง CELLO-GUM ที่ตัวมัมอยากเล่า : วุ้นมะพร้าวราคาหลักสิบ สู่วัตถุดิบอาหารพันล้าน” ในเวที TechnoMart 2023 โดยมี ศ. ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการ PETROMAT ในฐานะนักวิจัยเจ้าของผลงาน CELLO-GUM และ คุณวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรมและผู้บริหาร BIONEXT ร่วมเสวนา

ก่อนจะมาเป็น BioNext ต้องย้อนกลับไปถึงงานวิจัยของ ศ. ดร.หทัยกานต์ ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดยการนำจุลินทรีย์ (แบคทีเรีย) มาเลี้ยงด้วยน้ำตาล โดยจุลินทรีย์จะสามารถสร้างเซลลูโลสที่มีความบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ขึ้นมา ซึ่งในงานวิจัยจะเป็นการนำเซลลูโลสบริสุทธิ์มาประยุกต์ใช้ในงานที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูง อย่างตัวรับรู้ (Sensor) หรือ เยื่อเลือกผ่าน (Membrane) ทำให้ ศ. ดร.หทัยกานต์ และคณะ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนมาก และเป็นเรื่องบังเอิญที่ภาคอุตสาหกรรมอย่างอำพลฟู้ดส์ได้มาเจอผลงานวิจัยตีพิมพ์และให้ความสนใจ โดย ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอำพลฟูดส์ ท่านเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และให้ความสำคัญต่องานวิจัยและพัฒนา วันหนึ่งท่านได้เดินทางเข้ามาที่ PETROMAT ด้วยตัวเองเพื่อเข้าพบ ศ. ดร.หทัยกานต์ และกล่าวว่า “อาจารย์ทราบไหมว่า งานวิจัยของอาจารย์จะมีประโยชน์ต่อบริษัทผมมาก” เนื่องจากอำพลฟูดส์เป็นผู้ส่งออกวุ้นมะพร้าวอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งวุ้นมะพร้าวเป็นสิ่งที่มีการบริโภคทุกวัน และที่สำคัญวุ้นมะพร้าวคือแบคทีเรียเซลลูโลสที่มีความบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ศ. ดร.หทัยกานต์ จึงได้เรียนต่อ ดร.เกรียงศักดิ์ ว่า “ถ้าได้วัตถุดิบจากอำพลฟูดส์ งานวิจัยของเราจะไปได้ไกลกว่านี้”

ศ. ดร.หทัยกานต์ จึงตัดสินใจไปทำงานวิจัยกับอำพลฟูดส์ เป็นนักวิจัยและที่ปรึกษาภายใต้โครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากร (Talent Mobility) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ทำให้ได้ความรู้จากอำพลฟูดส์ว่าทั้งเครื่องดื่มหรือซอสปรุงรสเกือบทั้งหมดจะมีสารเติมเนื้อ (Stabilizer) ที่ได้จากแบคทีเรียเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบ จากนั้น มีความโชคดีที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป. อว.) ได้เริ่มโครงการการสร้างมูลค่างานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (ปั้นดาว) ขึ้นมา ศ. ดร.หทัยกานต์ จึงได้นำเสนอแนวคิดในการนำแบคทีเรียเซลลูโลสจากวุ้นมะพร้าวมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ และจากการเข้าประกวดโครงการปั้นดาว ทำให้มีโอกาสในการศึกษาตลาดและทราบว่าผลิตภัณฑ์จากแบคทีเรียเซลลูโลสสามารถทำเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องสำอาง และยาได้ หลังจากที่เข้ารอบสุดท้ายและได้งบประมาณมา จึงสามารถสร้าง Pilot Plant เพื่ออุตสาหกรรมอาหารเป็นหลักก่อน และได้ผลิตภัณฑ์ CELLO-GUM ออกมา หลังจากจบโครงการปั้นดาว ด้วยความที่ ศ. ดร.หทัยกานต์ เป็นนักวิจัย จึงยังไม่ได้มีความคิดที่จะนำ CELLO-GUM ไปทำธุรกิจแต่อย่างใด มีเพียงแนวคิดที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทที่สนใจ เพราะนอกจากวุ้นมะพร้าวแล้ว ของเสียจากอาหารหรือการเกษตรอย่างอื่นก็สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบได้เช่นกัน

แต่แล้ววันหนึ่ง คุณวรุณได้เดินเข้าไปหา ศ. ดร.หทัยกานต์ และยิงคำถามว่า “เราลุยกันเองเลยดีไหม” ในเมื่อผลิตภัณฑ์ที่มีก็เป็นที่ต้องการของตลาด มีงานวิจัยรองรับ มีภาคเอกชนอย่างอำพลฟูดส์ให้การสนับสนุน มีทีมงานจาก PETROMAT คอยช่วยเหลือ คุณวรุณเองก็เคยเป็นผู้บริหารในภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จ มีความเข้าใจในธุรกิจและมีความเข้าใจในงานวิจัยอย่างลึกซึ้ง ศ. ดร.หทัยกานต์ จึงก้าวออกจากกรอบนักวิจัย และ BioNext จึงถือกำเนิดขึ้นมา

ทำไมคุณวรุณถึงมั่นใจว่า BioNext จะประสบความสำเร็จ อะไรที่ทำให้คุณวรุณกล้าลงทุนกับ BioNext โดยคุณวรุณได้ให้มุมมองของภาคเอกชนบนเวทีเสวนาไว้ว่า “BioNext เริ่มต้นโดยคนคิดค้นเทคโนโลยีก็คือ ศ. ดร.หทัยกานต์ โดยทั้งผมและ ศ. ดร.หทัยกานต์ มีความคิดคล้ายกันคืออยากรวย ที่สำคัญอยากรวยเร็วด้วย” ปกติการตั้งบริษัททั่วไปจะค่อยๆ เติบโต แต่ในยุคใหม่มีทางลัดมากขึ้น เพราะคนอยากรวยเร็วมากขึ้น ซึ่งก็คือ Startup แต่เราจะ Startup ธุรกิจอะไร ก็ต้องเลือกธุรกิจที่มีฐานแน่นๆ ก็คือเรื่องของงานวิจัย สิ่งที่ประเทศไทยเก่งจริงๆ นอกจากการท่องเที่ยวคือการเกษตร ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีต่อยอดด้านการเกษตรมาหลายสิบปีแล้ว แต่วัตถุดิบที่เกิดจากของเสียทางการเกษตรยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมีจำนวนมากและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง CELLO-GUM  ที่เป็นการสร้างมูลค่าจากของเสียทางการเกษตร จึงเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก สามารถนำของเสียที่ปกติต้องมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดหรือต้องนำไปทิ้งในที่ใดที่หนึ่งมาสร้างมูลค่าและสามารรถนำไปขายต่อได้อีก โดยมีความต้องการ (Demand) ในตลาดรออยู่แล้ว แถมยังมีผู้สนับสนุนรายใหญ่อย่างอำพลฟูดส์มาช่วยผลักดันอยู่เบื้องหลังตั้งแต่ต้น ดังนั้น ในภาพการตลาดจึงน่าสนใจ และในภาพธุรกิจสามารถเดินได้แน่นอน ทำให้คุณวรุณมั่นใจใน BioNext

คุณวรุณได้อธิบายถึงแผนการดำเนินธุรกิจของ BioNext ไว้ว่า “หลังจากที่มี Pilot Plant ทำให้สามารถเลือกเส้นทางที่จะเดินได้หลากหลาย ในขณะที่ BioNext มีความพร้อมด้านคนและเทคโนโลยี สิ่งที่ขาดคือเงินทุน” ข้อดีของ Startup คือสามารถสร้างช่องทางในการระดมทุนจากแหล่งทุนต่างๆ ได้ เช่น การไป Pitching เพื่อหาทุน หรือการไปหา Venture Capital (VC) เพื่อหาผู้ที่จะร่วมลงทุน เมื่อได้ทุนมา แผนต่อไปคือพัฒนา Pilot Plant ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ได้ต้นแบบที่สามารถใช้งานจริงได้ และนำต้นแบบไปทำการ Scale up ตามแหล่งวัตถุดิบ ปัจจุบัน Pilot Plant ตั้งอยู่ที่อำพลฟูดส์ซึ่งเป็นผู้ผลิตวุ้นมะพร้าวรายใหญ่ แต่ยังมีผู้ผลิตวุ้นมะพร้าวอีกจำนวนมาก BioNext สามารถที่นำ Pilot Plant ไปติดกับโรงงานเหล่านั้นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ CELLO-GUM ได้ เนื่องจากวัตถุดิบจากวุ้นมะพร้าวแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน การปรับกระบวนการสำหรับแต่ละแห่งจึงแตกต่างกัน ข้อดีของธุรกิจนี้คือมีตัวอย่างต้นแบบที่อำพลฟูดส์ เมื่อมีเงินทุนเข้ามา ธุรกิจจะค่อยๆ ขยายตัวออกไป (ท่านผู้อ่านสามารถรับฟังการเสวนาแบบเต็มๆ ได้ทาง https://shorturl.asia/B2cWu)

เมื่อถอดบทเรียนจากกรณี BioNext พบว่า ถึงแม้ว่า ธุรกิจ Startup ของ BioNext จะไม่ได้เป็น Application บน Social Network แต่ก็ตรงกับหลักการ Repeatable คือลูกค้าในที่นี้คือผู้ผลิตวุ้นมะพร้าว ต้องใช้บริการในการกำจัดของเสียอย่างต่อเนื่อง และผู้ผลิตอาหารต้องการ CELLO-GUM หรือสารเติมเนื้อในอาหารอย่างต่อเนื่อง สำหรับ Pilot Plant ของ BioNext จะตรงกับหลักการ Scalable ที่สามารถสร้าง Pilot Plant ขยายไปตามโรงงานของลูกค้าได้เรื่อยๆ ส่วนสถานการณ์เรื่องเงินทุนของ BioNext กำลังไปได้สวย โดยชนะเลิศการประกวดโครงการ DELTA x DIPROM Angel Fund 2023 เมื่อเดือนกันยายน 2566 และได้เงินทุนมาต่อยอดธุรกิจ ในยุคสมัยนี้ Startup อาจจะเป็นช่องทางลัดสำหรับการยกระดับงานวิจัยและพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ที่ยั่งยืน ซึ่งจะต้องเฝ้าดูกันต่อไป โดย PETROMAT จะพยายามผลักดันให้เกิด Startup ใหม่ๆ ถัดจาก BioNext ต่อไป

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


− 7 = one