ธนบัตรพอลิเมอร์

เรื่องโดย ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมใช้ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบใหม่ เรียกว่า “ธนบัตรพอลิเมอร์” ในวันที่ 24 มีนาคม 2565 ซึ่งเปลี่ยนจากการเป็นธนบัตรกระดาษ มาใช้วัสดุ “พอลิเมอร์” ซึ่งมีความทนทานในการใช้งานมากกว่า “ธนบัตรกระดาษ” ช่วยลดปริมาณการผลิตธนบัตรใหม่เพื่อทดแทนธนบัตรที่ชำรุด ลดการใช้ทรัพยากร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่ถูกใช้จ่ายมากที่สุด มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือบ่อย ทำให้สภาพเก่ากว่าธนบัตรชนิดราคาอื่น แท้จริงแล้วธนบัตรพอลิเมอร์ทำมาจากพอลิเมอร์ชนิดใดและใช้กระบวนการใดในการผลิต ติดตามไปพร้อมกันเลยค่ะ

ธนบัตรพอลิเมอร์ ผลิตและขึ้นรูปด้วยวิธี Biaxially Oriented Polypropylene (BOPP) ซึ่งเป็นการหลอมเม็ดพลาสติกชนิดพอลิพรอพีลีน (PP) ผ่านเครื่องหลอมอัดรีด แล้วทำการดึงยืดให้เป็นฟิล์มโดยการดึงฟิล์มในสองทิศทาง ได้แก่ ดึงในด้านขนานกับทิศทางการไหลของพอลิเมอร์ออกจากเครื่องหลอมอัดรีด และดึงตั้งฉากกับทิศทางการไหลของพอลิเมอร์ที่ออกจากเครื่องหลอมอัดรีด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวฟิล์ม เช่น มีการยืดตัวต่ำ ความต้านทานแรงดึงสูงขึ้น มีความแข็งมากขึ้น มีคุณสมบัติทางแสงที่ดีขึ้นและทนทานต่อน้ำหรือก๊าซได้ดีขึ้น

การขึ้นรูปพลาสติกประเภท Biaxially Oriented Polypropylene (BOPP)

พลาสติก BOPP เป็นพลาสติกที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้มีความใสมากขึ้น และมีคุณสมบัติทนความร้อนสูง โดยแผ่นฟิล์ม BOPP นิยมใช้ในกระบวนการลามิเนต มีคุณสมบัติโดดเด่นมากทั้งในด้านความใส ผิวมันวาว เหนียว ทนต่อแรงดึง ไม่มีไฟฟ้าสถิต กันน้ำได้ดี นิยมนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ซองบุหรี่ เทปกาวสีน้ำตาล เทปใส เทปที่ใช้ทางการแพทย์และใช้ประโยชน์ในการเคลือบต่าง ๆ ทำซองบรรจุภัณฑ์ บรรจุอาหาร บรรจุผงซักฟอก ยา แชมพู น้ำยาสารเคมี สบู่เหลว และนำมาใช้งานแทนแผ่นกระดาษแก้ว


ฟิล์ม BOPP

ธนบัตรพอลิเมอร์ดีอย่างไร

1) ความสะอาด
ธนบัตรพอลิเมอร์มีความทนทานต่อความชื้นและสิ่งสกปรกได้ดี จากกรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ พบว่าธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานประมาณ 2.5 เท่าของธนบัตรกระดาษ โดยการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ช่วยยกระดับคุณภาพธนบัตรออกใช้หมุนเวียนให้ใหม่และสะอาดมากยิ่งขึ้น แม้ในประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์

2) ความทนทาน
เทคโนโลยีในการผลิตธนบัตรพอลิเมอร์ได้มีพัฒนาการไปอย่างมากในช่วง 10 – 20 ปี ที่ผ่านมา โดยในส่วนของวัสดุพอลิเมอร์ ได้มีการปรับปรุงให้ทนทานและพิมพ์ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เครื่องจักรและเทคโนโลยีในการพิมพ์และการเคลือบผิวธนบัตรหลังการพิมพ์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ตลอดจนคุณสมบัติของหมึกพิมพ์และสารเคลือบสำหรับการผลิตธนบัตรพอลิเมอร์ก็มีการปรับปรุงจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

3) ความปลอดภัย (จากการปลอมแปลง)
ธนบัตรพอลิเมอร์สามารถออกแบบให้มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่หลากหลายและปลอมแปลงยากกว่าธนบัตรกระดาษ โดยในระยะ 10 – 20 ปี ที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาของเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงไปเป็นอย่างมาก จากกรณีศึกษาในหลาย ๆ ประเทศ พบว่าการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์มีผลทำให้สถิติการปลอมแปลงธนบัตรลดลงได้อย่างชัดเจน

4) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงคาร์บอนฟุตปรินท์ (จากการผลิตธนบัตรทดแทน การขนส่งและกระจายธนบัตร และการทำลายธนบัตรที่เสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งาน เป็นต้น) ของธนบัตรพอลิเมอร์น้อยกว่ากระดาษ (อ้างอิง ตัวอย่างผลการศึกษาของประเทศแคนาดา และประเทศอังกฤษ) เนื่องจากธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานที่ยาวกว่าธนบัตรกระดาษเป็นอย่างมาก


ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th