อันดามัน สวรรค์เมืองไทย

เรื่องโดย กุลนาถ ศรีสุข

ผ่านเดือนเมษา (2566) หฤโหดมาแล้วด้วยสภาพอากาศสุดร้อน และค่าไฟฟ้าที่พุ่งชนเพดานบ้าน เราไปหาที่เย็นๆ เล่นน้ำกันเพื่อลดความพีกดีกว่าครับ

จากคราวที่แล้วเราได้เรียนรู้ถึงนิยามการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Ecotourism) มาแล้ว มาคราวนี้ผมขอพาลงใต้ไปสู่ดินแดนที่ใครๆ หลายคนเรียกว่า “อันดามัน” หรือ สวรรค์บนดินในฝั่งตะวันตกของประเทศไทยกันเลยทีเดียว “อันดามัน” นั่นเอง

อันดามัน ชื่อนี้มีที่มา

ทะเลอันดามัน หรือ ทะเลพม่า เป็นทะลที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวเบงกอล เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ทางเหนือของทะเลติดกับปากแม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า ทางตะวันออกเป็นคาบสมุทรประเทศพม่า ประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย ทางตะวันตกเป็นหมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ ภายใต้การปกครองของอินเดีย ทางใต้ติดกับเกาะสุมาตรา

ชื่อ นิโคบาร์ มาจากคำว่า นาควาระ อันมีความหมายว่า “ถิ่นนาค หรืองู หรือคนเปลือย”  ยูเนสโกประกาศให้หมู่เกาะอยู่ในโครงการมนุษย์และชีวมณฑลของยูเนสโก

หมู่เกาะอันดามัน

หมู่เกาะอันดามัน (Andaman Islands) เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวเบงกอล หมู่เกาะส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ โดยมีเกาะบางส่วนทางตอนเหนือเป็นของพม่า ชาวอังกฤษได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1789 แต่ทิ้งร้างไปใน ค.ศ. 1796 ต่อมาใน ค.ศ. 1858 รัฐบาลอินเดียของอังกฤษได้จัดตั้งสถานกักกันนักโทษที่พอร์ตแบลร์ ต่อมาได้รวมเข้ากับหมู่เกาะนิโคบาร์เป็นเขตการปกครองหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ในปี ค.ศ. 1872 และในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1942-1945) จนรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียในปี ค.ศ. 1947

ชื่อ “อันดามัน” ที่ให้ความรู้สึกของท้องทะเลแห่งสีสัน ให้ความรู้สึกอันมีตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ แม้นจะเรียกขานกันจนติดปากติดหู มีข้อมูลที่พอจะเชื่อได้ว่า “อันดามัน” นั้นมีต้นรากมาจากคำว่า “หัวละมาน” ในภาษาอินเดียที่หมายถึงหนุมาน ตัวละครเอกในเรื่องรามเกียรติ์วรรณกรรมยิ่งใหญ่อันเป็นมหากาพย์ของผู้คนในแถบนี้

แหล่งข้อมูล < ละไมไทยแลนด์ > Link Lamai Thailand

ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลหมู่เกาะที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทะเลฝั่งตะวันตกของไทยหรือเรียกกันติดปากว่า ฝั่งอันดามันมาไว้ที่นี่เพื่อเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นการช่วยรัฐสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในทะเลฝั่ง “อันดามัน” มีที่ไหนบ้างตามมาดูกันนะครับ

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน  คำว่า “สิมิลัน” เป็นภาษายาวีหรือมลายู แปลว่า “เก้า” จึงมีชื่อเรียกกันว่า “หมู่เกาะสิมิลัน” หรือ “เกาะเก้า” แต่เดิมประกอบไปด้วยเกาะใหญ่น้อย 9 เกาะ เรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง เกาะหูยง ต่อมาได้ผนวกพื้นที่ เกาะตาชัย เข้ามารวมอยู่ด้วย รวมเป็น 10 เกาะ มีความงามทั้งบนบกและใต้น้ำ สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก ช่วงที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยวมากที่สุด คือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน และจะประกาศปิดอุทยานฯ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ของทุกปี

การเดินทาง :  โดยเรือสปีดโบ๊ต เนื่องจากเป็นหมู่เกาะที่อยู่ห่างไกล ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชั่วโมง ท่าเรือหลักที่ใช้เดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันคือ ท่าเรือทับละมุ โดยนักท่องเที่ยวสามารถซื้อแพคเก็จท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับจากบริษัทนำเที่ยวล่วงหน้าก่อนวันเดินทาง

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานฯ : ชาวไทย ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 500 บาท เด็ก 300 บาท ปัจจุบันทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้พักค้างแรมบนเกาะทุกเกาะในพื้นที่ของอุทยานฯ สามารถท่องเที่ยวได้แบบเช้าไปเย็นกลับเท่านั้น มีร้านอาหาร ร้านค้าสวัสดิการ และห้องน้ำ สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว ณ เกาะสี่และเกาะแปด สอบถามข้อมูล โทร. 0 7645 3272-73, 0 7645 3275 หรือ www.dnp.go.th

หมู่เกาะพีพี (Phi Phi Island) หมู่เกาะพีพี อยู่ห่างจากจังหวัดกระบี่ราว 40 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา เดิมชาวทะเลเรียกหมู่เกาะนี้ว่า “ปูเลาปิอาปิ” คำว่า “ปูเลา” แปลว่าเกาะ คำว่า “ปิอาปิ” แปลว่าต้นไม้ทะเลชนิดหนึ่งจำพวกแสม และโกงกาง ต่อมาเรียกว่า “ต้นปีปี” ซึ่งภายหลัง กลายเสียงเป็น “พีพี” ซึ่งได้ ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งบุปผาใต้สมุทร นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวหมู่เกาะนี้ส่วนใหญ่มาเพื่อดำน้ำดูปะการัง ดอกไม้ทะเลและปลา หลากสีสันที่สวยงาม หมู่เกาะพีพี ประกอบด้วยประกอบด้วย 2 เกาะใหญ่ๆ คือ เกาะพีพีดอน และ เกาะพีพีเล และเกาะเล็กๆ ข้างเคียง คือ เกาะยูง เกาะไม้ไผ่ เกาะพีพีดอน และ เกาะพีพีเล เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลัก มีลักษณะเป็นเวิ้ง หรือ อ่าวใหญ่ ที่ภายในมีหาดทรายขาวสะอาด น่าเล่นน้ำและดูปะการัง

เกาะพีพีดอน เคย ติดอันดับ 1 ใน 10 อันดับเกาะที่สวยงามที่สุดในโลกเลย เกาะพีพีดอนเป็นศูนย์กลางของหมู่เกาะพีพี มีทั้ง ที่พัก ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีทิวทัศน์ที่สวยงาม

เกาะปันหยี (Panyi Island)  ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา คำว่า “ปันหยี” แปลว่า ธง เป็นศัพท์อินโดนีเซีย ซึ่งในอดีตมีครอบครัวชาวชวา หรือชาวอินโดนีเซีย 3 ครอบครัว หนึ่งในนั้นมี “โต๊ะนาบู” เป็นผู้นำการอพยพออกมาหาที่ทำกินใหม่ ตกลงกันว่าหากใครพบที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ ให้ปักธงไว้ และกลายเป็นที่มาของชื่อเกาะปันหยีนั่นเอง

ไฮไลต์สำคัญของเกาะปันหยี นั่นคือ สนามฟุตบอลลอยน้ำ แห่งเดียวในประเทศไทย ที่กลายเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของเกาะปันหยีที่โด่งดังไปทั่วโลก ที่มาจากความตั้งใจของเด็กๆ ในชุมชน จนพัฒนาเป็นทีม “ปันหยี เอฟซี” และประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ฟุตบอลหลายรายการ ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 สนาม ได้แก่ สนามเดิมที่ยังสามารถเห็นแผ่นกระดานไม้ และสนามใหม่ที่ใช้ทุ่นลอยน้ำทำเป็นสนามฟุตบอล

การเดินทาง

การเดินทางไปเที่ยวเกาะปันหยีนั้น สามารถขึ้นเรือได้ที่ท่าเรือด่านศุลกากรพังงา ซึ่งมีเรือโดยสารไปเกาะปันหยีหลากหลายโปรแกรมให้เลือกตามใจชอบ โดยหมู่ที่ 1 บ้านท่าด่าน ระยะทางห่างจากอำเภอเมืองพังงาประมาณ 7 กิโลเมตร หมู่ที่ 2 เกาะปันหยี ระยะทาง 7 กิโลเมตร มีเรือรับจ้างตลอดวัน หมู่ที่ 3 เกาะไม้ไผ่ ระยะทาง 8 กิโลเมตร มีเรือรับจ้างบางเวลา และหมู่ที่ 4 เกาะหมากน้อย ระยะทาง 12 กิโลเมตร มีเรือเป็นเวลา

เกาะเจมส์บอนด์ (James Bond Island) (อ่าวพังงา) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ เขาตะปู เกาะแห่งนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เจมส์บอนด์ 007 ภาค “The Man with the Golden Gun” เรียกได้ว่าเป็นฉากที่ทำให้คนจดจำได้ทั้งโลกถึงความสวยงามของเกาะแห่งนี้

การเดินทาง สามารถเริ่มต้นเดินทางได้ที่ท่าเรือต่างๆในอ่าวพังงา อยู่ห่างจากเกาะปันหยีเพียง 15 นาที โดยจะมีค่าธรรมเนียมในการเข้าชมอุทยาน 60 บาทต่อคน

หมู่เกาะสุรินทร์ (Surin Island) เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า มีพื้นที่ประมาณ 84,375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บนบกประมาณ 20,594 ไร่ ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก)

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นแหล่งปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย การเรียงตัวของเกาะที่อยู่ในกลุ่มอ่าวขนาดใหญ่ สามารถกำบังคลื่นลมได้ดีทำให้เกิดแนวปะการังริมฝั่งรอบเกาะ โดยเฉพาะเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ที่ตั้งอยู่ชิดกันคล้ายเกาะแฝด มีพื้นน้ำตื้นๆ กว้างประมาณ 200 เมตร กั้นอยู่ ในช่วงน้ำลงสามารถข้ามไปมาระหว่างเกาะได้ ลักษณะเหมือนทะเลแหวก เรียกว่า “อ่าวช่องขาด” ลักษณะของน้ำขึ้นและน้ำลงวันละ 4 ครั้ง และระดับสูงสุดและต่ำสุดต่างกันถึง 3 เมตร

ฤดูกาลท่องเที่ยวเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน-30 เมษายน อุทยานมีบ้านพักร้านอาหาร ให้บริการบริเวณอ่าวช่องขาด และสถานที่กางเต็นท์พร้อมอุปกรณ์ให้บริการที่อ่าวไม้งาม เกาะสุรินทร์เหนือ พร้อมทั้งเรือให้เช่าท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการังรอบเกาะ สอบถามข้อมูล โทร. 0 2562 0760-3 หรือ 0 7647 2145-47 หรือ www.dnp.go.th

การเดินทาง ใช้เวลาเดินทางโดยเรือสปีดโบ้ต ประมาณ 1.30 ชั่วโมง เรือจะออกจากท่าเรือคุระบุรี จังหวัดพังงา เวลา 09.00 น. ไปยังที่ทำการอุทยานฯ บนเกาะสุรินทร์เหนือ และเดินทางกลับเวลา 13.30 น.

ข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกี่ยวกับครีมกันแดด เมื่อเราลงเล่นน้ำทะเล

และเพื่อเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป้องการการเสื่อมโทรมของปะการังในทะเล เราควรจะมีการเตรียมครีมกันแดดที่ใช้สินแร่เป็นสารกันแดด (mineral-based sunscreens) โดยเฉพาะที่ใช้ zinc oxide และ titanium dioxide แบบที่ไม่ใช่นาโน ร่วมกับเสื้อผ้าที่ป้องกันแสงยูวี เนื่องจากครีมกันแดดที่มนุษย์ใช้ส่วนใหญ่ จัดเป็นภัยคุกคามที่อยู่ในประเภทเดียวกับ มลภาวะจากน้ำเสีย หรือการประมงเกินขนาด ได้เลย Dr. Pamela Hallock อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัย South Florida ให้ความเห็นไว้

อ้างอิงข้อมูลจาก abnews

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของทะเลฝั่งตะวันตกของประเทศไทย “อันดามัน” ที่ได้นำมารวบรวมไว้ เป็นแหล่งข้อมูลอีกช่องทางเพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ

ครั้งต่อไปจะนำท่านผู้นิยมการท่องเที่ยวไปที่ไหน ไว้ติดตามกันต่อไปนะครับ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th