เรื่องโดย ณัฐวดี เสริมสุข
ในปัจจุบันปัญหาการตกค้างของขยะพลาสติกยังคงเป็นประเด็นหลักที่ทั่วโลกพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และมองหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เราลองจินตนาการว่าถ้าหากมีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตพลาสติกโดยใช้วัตถุดิบเป็นก๊าซเรือนกระจกและพลาสติกดังกล่าวยังสามารถถูกย่อยสลายได้ทางธรรมชาติด้วยคงจะช่วยตอบโจทย์ของปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แนวความคิดนี้แม้ดูเป็นไปได้ยากแต่ถือว่ามีความน่าสนใจและท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากถือว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ในที่สุดแนวคิดนี้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นจริงได้แล้วโดย บริษัท Newlight Technologies ซึ่งพลาสติกที่ถูกคิดค้นขึ้นมานี้ มีชื่อเรียกว่า AirCarbon
อะไรคือ AirCarbon
AirCarbon เป็นชื่อเรียกที่ทางบริษัทผู้ค้นพบตั้งขึ้นมา แต่แท้จริงแล้วก็คือ พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastics) ประเภทที่เรียกว่า พอลิไฮดรอกซีบิวทิเรต (Polyhydroxybutyrate: PHB) บริษัท Newlight Technologies ได้ค้นพบว่าจุลินทรีย์ที่อาศัยในมหาสมุทรดำรงชีวิตด้วยการบริโภคก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายอยู่ในน้ำเป็นอาหาร เมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้เกิดกระบวนการย่อยอาหารเสร็จสิ้นแล้ว ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกบริโภคเข้าไปจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น PHB ดังนั้นบริษัทจึงเลือกใช้จุลินทรีย์จากมหาสมุทรและก๊าซเรือนกระจกมาเป็นแหล่งวัตถุดิบแทนการผลิต PHB แบบดั้งเดิมที่จะใช้น้ำตาลกลูโคสหรือแป้งเป็นแหล่งคาร์บอนสำหรับเป็นสารตั้งต้นผลิต PHB
การใช้ Carbon-negative Process ในการผลิต AirCarbon
เทคโนโลยีการผลิต AirCarbon สามารถสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้ดียิ่งขึ้นด้วยกระบวนการผลิตแบบคาร์บอนติดลบ (Carbon-negative Process) เนื่องจากในกระบวนการผลิตมีการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) รวมทั้งใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สามารถดักจับก๊าซเรือนกระจกมาเป็นแหล่งวัตถุดิบและนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าได้ ทำให้คาร์บอนทั้งกระบวนการผลิต AirCarbon ถูกกำจัดออกจากบรรยากาศได้มากกว่าถูกปล่อยออกมา ซึ่งกระบวนการผลิตได้รับการประเมิน Carbon Footprint จาก SCS Global Services และ Carbon Trust ว่าเป็น Carbon-negative
ผลิตภัณฑ์จาก AirCarbon
AirCarbon เป็นวัสดุจากธรรมชาติที่มีความพร้อมสำหรับนำไปพัฒนาเป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เนื่องจากมีสมบัติดังนี้ ดังนี้
- FDA Approved: สามารถสัมผัสกับอาหารได้
- Home Compostable: สามารถย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการย่อยสลายขยะจากครัวเรือนด้วยวิธีทางธรรมชาติ
- High-strength: มีคุณสมบัติในด้านความแข็งแรง ความทนทานต่ออุณหภูมิทั้งร้อนและเย็น
- Carbon-negative: กระบวนการผลิตได้รับการประเมินว่าเป็น Carbon-negative โดยมีองค์กรที่เป็นผู้ประเมิน Carbon Footprint คือ SCS Global Services และ Carbon Trust
เนื่องจากความโดดเด่นในด้านคุณสมบัติดังกล่าว ทางบริษัท Newlight Technologies จึงได้มีการพัฒนา AirCarbon เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น ช้อน ส้อม มีด รวมทั้งหลอด โดยสามารถทดแทนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งชนิดดั้งเดิมที่มีการผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Single-use Plastic) ซี่งมีหลากหลายประเภทให้เลือกตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ในอนาคตอันใกล้นี้ Net Zero Emissions ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของโลกส่งผลให้หลายประเทศมีการประกาศมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้ต้องมีการปรับตัวทางเทคโนโลยีหรือการเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้มีหลายอุตสาหกรรมสนใจที่จะนำ AirCarbon ไปเป็นวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น บริษัทจำหน่ายอาหารฟาสต์ฟูด Shake Shack ได้มีการทดลองนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจาก AirCarbon ทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งแบบดั้งเดิม หรือบริษัท Nike สนใจจะนำ AirCarbon มาเป็นส่วนหนึ่งของวัสดุในการใช้ทำรองเท้ากีฬา เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มวัสดุทางเลือกใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีทั้งในด้านคุณสมบัติของวัสดุและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่อุตสาหกรรมต่างๆ ในการที่จะปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกมากขึ้น
แหล่งข้อมูล
- https://www.newlight.com
- https://www.hausvoneden.com/lifestyle/news-nike-is-commercializing-biomaterial-AirCarbon-for-co2-reduction/
- http://www.thailandindustry.com/indust_newweb/onlinemag_preview.php?cid=226
- https://www.prnewswire.com/news-releases/AirCarbon-x-nike-newlight-and-nike-partner-to-reduce-carbon-footprint-html
- https://www.greenqueen.com.hk/carbon-negative-us-burger-restaurant-shake-shack-tests-regenerative-cutlery-made-from-AirCarbon/
- https://edition.cnn.com/2020/10/19/tech/plastic-dissolving-newlight-AirCarbon-climate/index.html
- https://www.pier.or.th/blog/2022/0301/
- http://plastic.oie.go.th/ReadArticle.aspx?id=5182