
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2569” จัดโดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) ณ โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 17–19 กรกฎาคม 2568 โดยมี นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม รองปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีเปิด



การประชุมมีเป้าหมายเพื่อกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยมีผู้บริหาร กปว. พร้อมด้วยผู้อำนวยการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 11 แห่งเข้าร่วมด้วย ในโอกาสนี้ ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ฯ ปิโตรเคมีและวัสดุ ได้รายงานความก้าวหน้าของศูนย์ฯ และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเครือข่าย พร้อมอภิปรายทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไป


ภายในงานมีการบรรยายสำคัญ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา” โดยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. กล่าวถึงแนวนโยบายใหม่ที่มุ่งเน้นการให้ทุนวิจัยในรูปแบบต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานวิจัยเป้าหมาย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ปัญญาประดิษฐ์ เซมิคอนดักเตอร์ ซอฟต์เพาเวอร์ รวมถึงการลงทุนด้านนักวิจัยและห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง เพื่อเตรียมความพร้อมในการต่อยอดผลงานวิจัยไปสู่ระดับธุรกิจอุตสาหกรรม


การบรรยายเรื่อง “ทิศทางการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม” โดย ศ.ดร.วิษณุ มีอยู่ รองผู้อำนวยการ สกสว. เน้นย้ำการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ไม่จำกัดเพียงเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่รวมถึงเชิงนโยบาย เชิงสังคมหรือชุมชนและพื้นที่ โดยขณะนี้ สกสว. ได้สร้างกลไกขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัยเอาไว้ในทุกขั้นตอน เพื่อผลักดันการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง


ที่ประชุมยังนำเสนอการอภิปรายเรื่อง “บทเรียนจากอดีต สู่อนาคตศูนย์ความเป็นเลิศ” ระหว่าง ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รศ.ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล และ รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร อีกทั้งยังมีการบรรยายโดย ศ.เกียรติคุณ นพ. ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิการบดี ม.มหิดล เรื่อง “สถาบันอุดมศึกษา – เครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศ: โอกาสหรืออุปสรรค” ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันภายในเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศ และเชื่อมโยงกับภาคเอกชนภายนอก พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จของงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้จริงในด้านการแพทย์ การเกษตร พลังงาน ฯลฯ


ปิดท้ายด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง “จากห้องแล็บสู่ผู้บริโภค” โดย คุณเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์สัญชาติไทยบุกตลาดในต่างประเทศ มาถ่ายทอดแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คน


การประชุมครั้งนี้ยังเป็นการยกระดับความพร้อมในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ปิโตรเคมีและวัสดุ ซึ่งพร้อมร่วมกับ กปว. และเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนการวิจัยให้ตอบโจทย์ประเทศ