Smog Free Tower

เรื่องโดย ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย

ฝุ่น PM2.5 เป็นภัยคุกคามทางอากาศที่โลกกำลังเผชิญ ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นวิกฤต โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหลายจังหวัดภาคเหนือ ที่ต้องเผชิญกับฝุ่นพิษจากควันรถ โรงงาน และการเผา ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้คน ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม “Smog Free Tower” หรือเครื่องฟอกอากาศกลางแจ้ง เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์สู่พื้นที่สาธารณะ

แนวคิดและการพัฒนา

Smog Free Tower ได้รับการออกแบบโดย Daan Roosegaarde นักออกแบบชาวดัตช์ที่มุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากที่เขาเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2556 ซึ่งเขาได้สัมผัสกับมลพิษทางอากาศที่รุนแรง จนทำให้มองไม่เห็นวิวทิวทัศน์ด้านนอก เขาตระหนักว่า

“การแก้ไขปัญหานี้ ไม่สามารถรอได้จากรัฐบาล หรือองค์กรใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ต้องมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างแท้จริง” ด้วยเหตุนี้ Smog Free Tower จึงถือกำเนิดขึ้น และได้รับการติดตั้งที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นที่แรก

คุณสมบัติและประสิทธิภาพ

Smog Free Tower เปิดตัวเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558 มีความสูงประมาณ 7 เมตร และทำงานคล้ายกับเครื่องฟอกอากาศในโรงพยาบาล แต่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถกรองอากาศได้มากถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รวมทั้งใช้เทคโนโลยีไอออนไนเซชันในการปล่อยไอออนประจุบวกออกไปเพื่อดักจับฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งช่วยลดฝุ่น PM10 ได้ถึง 70% และ PM2.5 ได้ประมาณ 25% นอกจากนี้ ยังมีระยะหวังผลในการลดมลพิษในรัศมี 20 เมตรรอบตัวเครื่อง ทั้งหมดนี้ ใช้พลังงานเพียง 1,170 วัตต์ หรือแค่เพียง 1 กาต้มน้ำไฟฟ้าเท่านั้น!

หลักการทำงานของ Smog Tower:

การดูดอากาศมลพิษ:

  • อากาศที่ปนเปื้อนฝุ่นละอองและมลพิษจะถูกดูดเข้าไปในหอคอยผ่านพัดลมแรงดันสูง

การกรองมลพิษ:

  • ผ่านระบบ HEPA Filters หรือ Electrostatic Precipitators เพื่อดักจับฝุ่นละอองและก๊าซพิษ
  • ระบบบางแห่งใช้เทคโนโลยี ไอออนลบ (Negative Ion Technology) เพื่อดักจับอนุภาคขนาดเล็กที่ยังหลงเหลืออยู่ในอากาศ

การปล่อยอากาศบริสุทธิ์:

  • หลังจากกรองแล้ว อากาศที่สะอาดจะถูกปล่อยกลับสู่สิ่งแวดล้อม

นอกจากความสามารถในการฟอกอากาศ Smog Free Tower ยังได้รับการออกแบบให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้งานง่าย ด้วยโครงสร้างที่สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะหรือจัตุรัสกลางเมือง โดยไม่รบกวนการใช้งานพื้นที่โดยรอบ

ผลกระทบและการใช้งาน

Smog Free Tower ได้รับการติดตั้งในหลายเมืองที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น ร็อตเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ ปักกิ่งและเทียนจินของจีนที่ต้องต่อสู้กับหมอกพิษจากอุตสาหกรรม คราคูฟในโปแลนด์ หนึ่งในเมืองที่มลพิษทางอากาศรุนแรงในยุโรป และมุมไบของอินเดีย โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดมลพิษในพื้นที่ที่มีปัญหา ด้วยการออกแบบที่สามารถดักจับอนุภาคฝุ่นและปล่อยอากาศสะอาดออกมาในพื้นที่สาธารณะ Smog Free Tower ยังสามารถกระตุ้นการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการลดมลพิษทางอากาศในกลุ่มประชาชนทั่วไป

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือการติดตั้ง Smog Free Tower ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในโลก หลังจากการติดตั้ง พบว่าปริมาณฝุ่นละอองในบริเวณใกล้เคียงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ประชาชนที่ได้สัมผัสกับพื้นที่อากาศบริสุทธิ์ยังรายงานถึงความพึงพอใจและความต้องการให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ลักษณะนี้เพิ่มเติม

Smog Free Tower เปลี่ยนฝุ่นเป็นอัญมณี

หนึ่งในแนวคิดสร้างสรรค์คือการนำฝุ่นละอองที่สะสมได้มาอัดเป็น “เพชรคาร์บอน” หรือ “หินคาร์บอน” ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนำไปทำเครื่องประดับได้ เช่น แหวน  สร้อยคอและต่างหู ตัวอย่างเช่น โครงการ Smog Free Tower ในเนเธอร์แลนด์ โดย Daan Roosegaarde ได้นำฝุ่นมลพิษที่อัดแน่นไปผลิตเป็นแหวนที่เรียกว่า “Smog Free Ring” โดยแหวนแต่ละวงเกิดจากการฟอกอากาศบริสุทธิ์กลับสู่เมืองถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งผู้สนับสนุนโครงการ สามารถได้รับแหวนที่ทำจากฝุ่นควันเป็นของที่ระลึกและรายได้ส่วนหนึ่งก็นำไปสนับสนุนโครงการสิ่งแวดล้อมต่อไป

ข้อจำกัดของ Smog Free Tower

แม้ว่านวัตกรรมนี้จะมีประสิทธิภาพสูง สามารถกรองอากาศได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แต่การลดฝุ่น PM2.5 ได้เพียงประมาณ 25% และ PM10 ได้ประมาณ 70% ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะในเมืองที่มีมลพิษรุนแรง อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

นอกจากนี้พื้นที่ครอบคลุม Smog Free Tower มีประสิทธิภาพในรัศมีประมาณ 20 เมตรจากตัวเครื่อง ซึ่งหมายความว่า มันไม่สามารถจัดการกับมลพิษในพื้นที่กว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการติดตั้งหลายเครื่องเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ใหญ่

ด้านต้นทุนและการบำรุงรักษา: การติดตั้งและบำรุงรักษา Smog Free Tower อาจมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำหรับบางเมืองหรือประเทศที่มีงบประมาณจำกัด

ถึงแม้ว่า Smog Free Tower จะมีข้อจำกัด แต่ยังสร้างแรงบัลดานใจให้มีนวัตกรรมช่วยให้เมืองปลอดฝุ่นพิษอีกหลายตัวตามมา เช่น

Smog Eating Billboard: ป้ายโฆษณาที่เคลือบด้วยสารเคมีชนิดพิเศษ ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และลม เพื่อฟอกอากาศให้กับประชากรกว่า 104,000 คนต่อวัน ซึ่งพัฒนาโดย UDEM University ในเม็กซิโก

Smog Free Bicycle: จักรยานที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับ Smog Free Tower ช่วยฟอกอากาศขณะปั่น เกิดจากความร่วมมือในเวิร์กช็อปที่ปักกิ่ง โดยศิลปิน Matt Hope และ Professor Yang จากมหาวิทยาลัย Tsinghua

Smog Free Tower เป็นตัวอย่างที่ดีของนวัตกรรมที่ผสมผสานระหว่างการออกแบบและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในโลกยุคปัจจุบัน ด้วยการใช้ทรัพยากรที่น้อยแต่มีประสิทธิภาพสูง เครื่องนี้ไม่เพียงช่วยลดมลพิษในอากาศ แต่ยังสร้างความตระหนักในความสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การต่อยอดแนวคิดและเทคโนโลยีนี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th