นาเปียกสลับแห้ง

เรื่องโดย นุสรา จริยะสกุลโรจน์

ประเทศไทยได้มีการประกาศเจตจำนงการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ด้วยการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% จากกรณีปกติ (BAU) ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) สำหรับทุกภาคส่วน โดยเป็นการดำเนินการภายในประเทศ 30% และหากได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากต่างประเทศ จะลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มอีก 10%

จากรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2562 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 373 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมาจาก

  1. ภาคพลังงานและการคมนาคมขนส่งมากที่สุด 70%
  2. ภาคการเกษตร 15%
  3. ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 10%
  4. ภาคของเสีย 5%

ส่วนของภาคการเกษตรมีปล่อยก๊าซเรือนกระจก 57 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พบว่า มาจากการปลูกข้าวมากที่สุด 51% รองลงมาคือ การใส่ปุ๋ยและปูน 22% การหมักในระบบย่อยอาหารสัตว์ 19% การจัดการมูลสัตว์ 6% และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร 2% ดังนั้นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้บรรจุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566-2570

ปัจจุบันภาคการเกษตรเป็นส่วนที่มีการใช้น้ำชลประทานมากที่สุด คิดเป็นเกือบ 80% ของปริมาณการใช้น้ำชลประทานทั้งหมด หากเกษตรกรสามารถลดการใช้น้ำลงได้ 10% ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งของปีที่มีภาวะฝนแล้งรุนแรงจะทุเลาลงมาก นอกจากนี้ภาคการเกษตรยังเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14.7 – 25.23% ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทยในปีพ.ศ. 2559 และ 2562 (ONEP 2020, Thailand’s Third Biennial Report; ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยรายสาขา ปี พ.ศ. 2562) ทั้งนี้แหล่งปล่อยที่สำคัญของภาคการเกษตรคือ การปลูกข้าว ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกมากถึง 51% ของภาคการเกษตร โดยเฉพาะการเกิด “ก๊าซมีเทน” ที่เกิดขึ้นจากการขังน้ำในระหว่างการปลูกข้าว ทำให้จุลินทรีย์ในดินและในน้ำเกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไม่ใช้ออกซิเจนส่งผลให้เกิดก๊าซมีเทนปลดปล่อยสู่บรรยากาศ ปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ 4 – 117 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร (IPCC, Chapter 4 agriculture, 1996) การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หรือ การแกล้งข้าว หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ทฤษฎี เปียก 5 แห้ง 15 เป็นวิธีที่ช่วยประหยัดน้ำและยังทำให้มีน้ำเหลือที่สามารถผันไปใช้เพาะปลูกพืชอื่น หรือ กิจกรรมอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าข้าว ซึ่งนอกจากจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดก๊าซมีเทนอันเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนที่กำลังก่อความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนทั่วโลกและต่อผลผลิตทางการเกษตร

กรมชลประทานจึงริเริ่มส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 โดยในปีพ.ศ. 2562 มีแผนให้ชาวนาจำนวน 8,750 ครัวเรือน หันมาทดลองทำนาเปียกสลับแห้ง มีเป้าหมายให้เพิ่มเป็น 100,000 ครัวเรือนในปีพ.ศ. 2566 และกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 2.8 ล้านไร่ในปีพ.ศ. 2566 (จากพื้นที่นาปรังทั่วประเทศ 9 – 12 ล้านไร่) ต่อมาในปีพ.ศ. 2561 Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) ร่วมกับกรมการข้าวจัดทำโครงการ Thai rice NAMA เพื่อลดการใช้น้ำ เพิ่มผลผลิต และมีเป้าหมายสำคัญ คือ การลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลง Paris Agreement อย่างไรก็ดี จวบจนปัจจุบันยังมีชาวนาทำนาเปียกสลับแห้งจำนวนน้อยมาก

วิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง มีวิธีการโดยสังเขป ดังต่อไปนี้

1. ปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน มีความแตกต่างระหว่างจุดที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดไม่เกิน 5 เซนติเมตร เตรียมแปลงทำนาตามปกติสามารถทำได้ทั้งนาดำและนาหว่าน

2. เตรียมท่อพีวีซีขนาด 4 นิ้ว ยาว 25 เซนติเมตร ให้วัดจากขอบท่อมา 5 เซนติเมตร เจาะรูทั้งหมด 4 จุด ทำทุก ๆ 5 เซนติเมตร นำไปฝังไว้ในแปลงนาลึก 20 เซนติเมตร ให้ปากท่อพ้นดิน 5 เซนติเมตร ในอัตรา 1-2 ท่อ ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ขุดดินในท่อออกเพื่อใช้สังเกตระดับน้ำใต้ดิน

3. ถ้าปลูกด้วยวิธีการหว่าน หลังหว่านข้าวให้ระบายน้ำให้แห้งเพื่อให้เมล็ดข้าวงอกสม่ำเสมอ พ่นยาฆ่าวัชพืชหลังหว่านข้าว 10 วัน และเอาน้ำเข้าแปลงหลังพ่นยาฆ่าวัชพืชภายใน 2 วัน ประมาณครึ่งต้นข้าว รักษาระดับน้ำไว้จนถึงช่วงการใส่ปุ๋ยรองพื้น

4. เมื่อข้าวอายุ 20 – 25 วันให้ใส่ปุ๋ยรองพื้น หลังจากหว่านปุ๋ยรองพื้น ปล่อยน้ำในนาให้แห้งไปโดยธรรมชาติจนน้ำอยู่ที่ระดับ 15 เซนติเมตรใต้ผิวดิน สูบน้ำเข้าแปลงจนระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน จากนั้นปล่อยน้ำให้แห้งไปตามธรรมชาติ ทำสลับกันไปจนถึงช่วงการใส่ปุ๋ยแต่งหน้าที่ระยะกำเนิดช่อดอก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าระยะข้าวแต่งตัว

5. ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าและรักษาระดับน้ำในแปลงให้อยู่ที่ 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน จนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 10 วัน จึงปล่อยให้แปลงแห้งเพื่อให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว

การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ได้คาร์บอนเครดิตอย่างไร

เมื่อเกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยนการทำนาจากนาน้ำขังเป็นการทำนาแบบเปียกสลับแห้งและขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เริ่มจากแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการไปยังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน (TGO) และระหว่างดำเนินโครงการต้องมีการเก็บข้อมูลวันที่ การปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ บันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบการบันทึกข้อมูลหรือภาพถ่าย สำหรับใช้ในการทวนสอบขอการรับรอง รายละเอียดดังแผนภาพ

ในการพัฒนาโครงการการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนี้ ควรรวมกลุ่มกันให้มีขนาดพื้นที่ดำเนินโครงการใหญ่ขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้ยังสามารถร่วมกับภาคเอกชนหรือหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน เช่น บริษัทหรือหน่วยงานที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต โดยให้ภาคเอกชนหรือหน่วยงานภายนอกเข้ามาเป็นผู้พัฒนาโครงการ ส่วนเกษตรกรเป็นเจ้าของโครงการ ก็ได้เช่นกัน ซึ่งในการดำเนินโครงการจะมีค่าใช้จ่ายหลัก 2 ส่วน ดังนี้

  1. การจัดทำเอกสารพัฒนาโครงการและรายงานการดำเนินโครงการ
  2. ค่าตรวจประเมินจากผู้ประเมินภายนอกที่ขึ้นทะเบียนกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน (TGO)

ปัจจุบันมีบริษัทเอกชน 2 – 3 แห่ง ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ดำเนินการพัฒนาข้อเสนอโครงการและอยู่ระหว่างดำเนินโครงการการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 0.25 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อรอบการปลูก

 

ประโยชน์ของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง มีอะไรบ้าง

  1. ลดต้นทุนของเกษตรกร
    • ลดค่าสูบน้ำฤดูละ 2 – 4 ครั้ง ครั้งละ 100 – 200 บาทต่อไร่ ประหยัดได้ 200-600 บาทต่อไร่
    • การใช้เมล็ดพันธุ์ลดจาก 15 – 20 กก.ต่อไร่ เหลือ 5 กก.ต่อไร่ ในกรณีนาดำ หรือ 8-10 กก.ต่อไร่ ในกรณีนาหว่าน เพื่อให้มีพื้นที่ในการแตกกอเพิ่มจำนวนรวง ประหยัดได้ 200 -300 บาทต่อไร่
    • ลดค่ายากำจัดศัตรูพืช จากการที่ต้นข้าวไม่อวบน้ำและความชื้นในแปลงต่ำ ประหยัดได้ 100-200 บาทต่อไร่
    • ข้าวจากนาเปียกสลับแห้งจะมีรากและลำต้นแข็งแรง ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ลำต้นเตี้ยกว่านาปกติจึงทำให้หักล้มยากขึ้น
  2. เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
  3. ลดความขัดแย้งจากปัญหาเรื่องปริมาณน้ำใช้ที่ไม่เพียงพอ และผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภคพอทุกภาคส่วน
  4. ลดการปล่อยก๊าซมีเทนต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งปริมาณก๊าซมีเทนที่ลดสามารถนำไปขอการรับรอง Carbon Credit และนำไปซื้อขายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


eight − 6 =