Holding Company กลไกส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน เพิ่มพลังผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

ประกาศใช้แล้ว!!!

 Holding Company กลไกส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน

เพิ่มพลังผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ (สอวช.) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ผลักดันมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (Holding Company) เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัยให้เห็นถึงช่องทางในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมจากผลงานวิจัยที่คิดค้น ทำให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัยที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจทั้งในระดับหน่วยงานและในระดับประเทศช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจนวัตกรรมให้กับประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้แล้วอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่  27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา

Holding Company คืออะไร

Holding Company คือ บริษัทที่มีการประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง ซึ่งอาจเป็นการลงทุนในบริษัทในประเทศหรือต่างประเทศ ในปัจจุบันมีการจัดตั้ง Holding Company โดยมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขึ้นหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น

  • บริษัท ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • บริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • บริษัท เอ็ม เวนเจอเรอร์ จำกัด ของมหาวิทยาลัยมหิดล
  • บริษัท นววิวรรธ จำกัด ของสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • บริษัท TUIP จำกัด ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • บริษัท นาสท์ด้า โฮลดิ้ง จำกัด ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 (27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566) กำหนดให้นำระเบียบไปใช้บังคับแก่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่ สภานโยบายกำหนด ดังนี้

  • หน่วยงานของรัฐ และมหาวิทยาลัย สามารถลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้ สามารถจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อลงทุนใน startup
  • สามารถให้บุคลากร (อาจารย์ นักวิจัย) ไปปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทร่วมทุน โดยนับเป็น “ภาระงาน” ได้
  • สามารถขอใช้สถานที่ โครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ โดยไม่มีค่าบริการ หรือมีค่าบริการในอัตราพิเศษ

วัตถุประสงค์การร่วมทุนเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ได้แก่

  1. เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือเชิงสาธารณประโยชน์
  2. เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน
  3. เพื่อสร้างธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่ ซึ่งโครงการร่วมทุน ครอบคลุมโครงการที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมไปใช้ดำเนินการ หรือเป็นโครงการที่มีอยู่แล้วและนำไปศึกษาต่อยอด หรือนำไปขยายผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง โดยมีรูปแบบการร่วมลงทุนซึ่งระบุว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนสามารถร่วมลงทุนกับเอกชน
  • จัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน
  • จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน (Holding Company) หรือ
  • จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนใน “วิสาหกิจเริ่มต้น” หรือ สตาร์ตอัพ (Startup) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th