พิมพ์ยางซิลิโคนด้วยเทคโนโลยีสามมิติ ด้วยประสิทธิภาพในการพิมพ์โครงสร้างชิ้นงานทีละชั้นอย่างละเอียดและแม่นยำ ทำให้สามารถจัดการรูปทรงที่ซับซ้อนให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในการผลิตยางซิลิโคนหรือซิลิโคนอีลาสโทเมอร์ให้เป็นชิ้นงานของแข็งสามมิติ มักใช้วิธีบรรจุของยางซิลิโคนเหลวในแม่พิมพ์ที่แข็งแรงให้แนบสนิทกับเนื้อวัสดุแล้วนำไปให้ความร้อน ทว่าวิธีนี้สามารถขึ้นรูปชิ้นงานอันมีรูปทรงซับซ้อนได้ยาก เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่ทั้งแม่นยำและมีความละเอียดสูงจึงทำให้การขึ้นรูปชิ้นงานมีความสมบูรณ์มากกว่าเดิมได้ โดยเครื่องพิมพ์ใช้วิธีเติมวัสดุเป็นภาพโครงสร้างตัดขวางสองมิติของชิ้นงานทีละชั้นตามแนวตั้งจนได้ชิ้นงานเป็นรูปทรงสามมิติ
งานวิจัยนี้ผู้วิจัยได้ขึ้นรูปยางซิลิโคนและสารอะคริเลตพอลิเมอร์ ซึ่งอยู่ในรูปของเหลว แต่หลังจากที่วัสดุได้สัมผัสกับแสงในช่วงยูวีแล้วจะถูกกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมพันธะเคมีกันภายในโครงสร้างจนกลายสภาพเป็นของแข็ง โดยคาดว่าวัสดุดังกล่าวจะมีทั้งความแข็งแรงและความเข้ากันได้กับร่างกาย ซึ่งมีคุณภาพเหมาะสมต่อการนำไปประยุกต์ใช้งานรวมถึงด้านชีวการแพทย์
ผลงานโดย คุณอภิวัฒน์ พงศ์วิสุทธิรัชต์ ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe