ผสมยางธรรมชาติกับพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่วัสดุโฟมเทอร์โมพลาสติกวัลคาไนเซต ที่ยืดหยุ่นได้เหมือนยาง ทั้งยังอ่อนตัวและหลอมเหลวได้เมื่อถูกความร้อน จึงนำไปขึ้นรูปใหม่ได้

โฟมยางเป็นวัสดุที่พองฟูหรือขยายใหญ่ เนื่องจากภายในเนื้อสารมีฟองอากาศเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังนิ่มและมีน้ำหนักเบา รองรับการกระแทกและคืนตัวได้ดี แต่มีข้อจำกัดคือเมื่อถูกขึ้นรูปแล้วจะไม่สามารถนำไปขึ้นรูปซ้ำโดยที่ยังคงคุณสมบัติเดิมอย่างความยืดหยุ่นไว้ได้ อย่างไรก็ดี หากนำพลาสติกเข้ามาผสมในขั้นตอนการผลิตก็จะได้โฟมอีกชนิดที่เรียกว่าวัสดุเทอร์โมพลาสติกวัลคาไนเซต ซึ่งสามารถนำไปหลอมเหลวด้วยความร้อนแล้วขึ้นรูปใหม่

ผู้วิจัยเลือกใช้พลาสติกชนิดพอลิบิวทิลีนซักซิเนตที่ผลิตได้จากพืชเป็นหลัก โดยนำไปผสมกับยางธรรมชาติในอัตราส่วนแตกต่างกัน โดยพบว่าปริมาณของยางธรรมชาติและพอลิบิวทิลีนซักซิเนตที่เติมลงไป ทำให้ฟองอากาศในเนื้อโฟมมีรูปร่าง ขนาด และจำนวนเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้โฟมที่ได้มีความแข็งแรงและความยืดหยุ่นที่หลากหลาย จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมาย เช่น วัสดุกันกระแทก เบาะ หมอน รองเท้า ฯลฯ เมื่อหมดประโยชน์จากการใช้งานแล้วก็ยังสามารถนำไปแปรรูป ไม่ถูกทิ้งให้เป็นขยะในสิ่งแวดล้อม

ผลงานโดย คุณเจตริน เจริญตา ทีมวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์ฉาย ทองปิ่น ภาควิชาวิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th