ยางธรรมชาติผสมนาโนเซลลูโลส เส้นใยที่สกัดได้จากชานอ้อย ก่อนนำไปย่อยให้อนุภาคมีขนาดเล็กระดับนาโนแล้วผสมลงในยาง ได้วัสดุชนิดใหม่ที่ยืดหยุ่นและแข็งแรงกว่าเดิม

สารตัวเติมนาโนเซลลูโลสถูกดัดแปรมาจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ราคาถูกอย่างชานอ้อยซึ่งย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพราะเป็นสารธรรมชาติ อีกทั้งมีคุณสมบัติเด่น ได้แก่ น้ำหนักเบา มีความเสถียรทางความร้อนและความแข็งแรงสูง จึงเหมาะกับการนำไปปรับปรุงยางธรรมชาติที่ยืดหยุ่นตัวดี แต่อาจมีสมบัติทางกลบางอย่างและสมบัติทางความร้อนน้อยกว่ายางสังเคราะห์บางชนิด

โดยนักวิจัยได้นำชานอ้อยไปผ่านกระบวนการอัลคาไลเซชันเพื่อสกัดเซลลูโลส จากนั้นกำจัดลิกนินและเฮมิเซลลูโลสออกด้วยการฟอกสี แล้วนำไปย่อยด้วยกรดซัลฟูริกที่อุณหภูมิสูงปานกลาง จนได้อนุภาคนาโนเซลลูโลสขนาดประมาณ 50 – 100 นาโนเมตร ซึ่งสามารถใช้เป็นวัสดุผสมลงในยางธรรมชาติ ให้แข็งแรงทนทาน ใช้งานได้หลากหลาย มีราคาจ่ายไม่แพง แถมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผลงานโดย คุณอุษาสวรรค์ เปล่งนอก ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.กษมา จารุกำจร สาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th