เพราะได้จากวัสดุโครงร่างแข็งที่ช่วยปกป้องกุ้งและปู ไคโตซานจึงแข็งแรงพอที่จะห่อหุ้มยาในเม็ดอนุภาค และเพราะว่าไคโตซานเป็นสารธรรมชาติ ทำให้สามารถแยกสลายในร่างกายแล้วปลดปล่อยตัวยาออกมาโดยไม่เป็นพิษ นำไปเดลิเวอร์รี่ตัวยาให้เป็นไปดั่งใจที่คุณต้องการ
อนุภาคไคโตซานถูกผลิตด้วยวิธีอิมัลชันน้ำในน้ำมัน โดยใช้ไคโตซานมวลโมเลกุล 10 และ 500 กิโลดาลตัน และเชื่อมขวางให้แข็งแรงด้วยสารเคมี เช่น กลูตาราลดีไฮด์ ซึ่งมีผลต่ออัตราการปลดปล่อยของตัวยา โดยทั่วไปแล้วถ้าอนุภาคมีการเชื่อมขวางมาก ยาจะถูกปล่อยออกมาช้า แต่ถ้าเชื่อมขวางน้อย ยาก็ถูกปล่อยเร็ว
กลูตาราลดีไฮด์เชื่อมขวางอนุภาคไคโตซานให้เป็นเม็ดสมบูรณ์ได้ดี แต่มีความเป็นพิษสูง ทำให้ต้องใช้ในปริมาณน้อยและเพิ่มสัดส่วนของไคโตซานชนิดมวลโมเลกุลต่ำ โดยเติมสารลดแรงตึงผิวบางชนิดเข้าไปด้วยในกระบวนการผลิต เพื่อลดการหลอมรวมกันของเม็ดอนุภาค ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือระบบนำส่งที่จะสามารถนำไปใช้กักเก็บตัวยา และควบคุมการปลดปล่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ออกแบบระบบเดลิเวอร์รี่ยาโดยคุณปิติภาคย์ บุญมี ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา หาญศุภลักษณ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้ที่ต้องการออกแบบงานวิจัยให้สามารถเดลิเวอร์รี่ออกสู่สายตาผู้คน สามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe