ช่วงนี้เราใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้าน ไม่กล้าออกไปข้างนอก เพราะกลัวว่าจะหายใจเอาไวรัสหรือฝุ่นควันเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา แต่ลืมไปว่าอากาศภายในบ้านก็อาจมีเชื้อโรคและมลพิษด้วยเช่นกัน ในอากาศมีอนุภาคเล็ก ๆ ลอยอยู่เต็มไปหมด ทั้งฝุ่นละออง แบคทีเรียหรือไวรัส แล้วยังมีก๊าซพิษ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไอระเหยฟอร์มอลดีไฮด์ที่นิยมใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเป็นพิษค่อนข้างมาก รวมทั้งมลพิษอีกมากมายที่เรามองไม่เห็น จึงมีแนวคิดสร้างตัวกรองในเครื่องฟอกอากาศ ที่สามารถดักจับอนุภาคต่าง ๆ พร้อมทั้งกำจัดไอระเหยจากสารเคมีได้อย่างเสร็จสรรพ

โดยนักวิจัยได้นำตัวกรองอากาศไปปรับปรุงพื้นผิวด้วยอนุภาคซิงค์นาโน ซึ่งตัวกรองนี้ทำจากเส้นใยแก้วที่กรองอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง แข็งแรง ทนทาน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ส่วนซิงค์นาโนก็มีสมบัติในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียและไอระเหยจากสารเคมี โดยพบว่าตัวกรองอากาศที่มีซิงค์นาโนสามารถกำจัดฟอร์มอลดีไฮด์ได้ดีขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับตัวกรองอากาศเปล่า ทั้งยังสามารถกำจัดแบคทีเรียด้วย ผลลัพธ์ที่ได้ก็คืออากาศที่บริสุทธิ์มากขึ้น ดีต่อการใช้ชีวิตของผู้คนภายในบ้าน

แผ่นกรองอากาศแบบมัลติฟังก์ชัน สร้างสรรค์โดยคุณจีรนันท์ แก้ววิจิตร ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.รัตนา รุจิรวนิช วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th