ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย จะมีมูลค่าสูงขึ้นได้หากนำไปแปรรูปใหม่ ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติในท้องตลาดปัจจุบันโดดเด่นในด้านความเหนียวและความคงทนเท่านั้น แต่กลับต้านเชื้อโรคไม่ได้ ทีมวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปวีนา ประไพนัยนา จึงได้เตรียมวัสดุยางธรรมชาติผสมลิกนินที่สกัดได้จากทะลายปาล์มเหลือทิ้ง ซึ่งสามารถยับยั้งการเกิดและการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพ ทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัววัสดุผสมได้ เพราะลิกนินมีมวลโมเลกุลมากและไม่ละลายน้ำ จากนั้นได้ทดสอบยางผสมที่เตรียมขึ้น ทั้งความสามารถในการต้านทานเชื้อโรค รวมทั้งสมบัติทางความร้อนและความเสถียรต่อการเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ช่วยเปิดโอกาสให้สินค้าเกษตรมีช่องทางในการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูงต่อไป
การเตรียมวัสดุคอมโพสิตยางธรรมชาติผสมลิกนินจากทะลายปาล์ม วิจัยและพัฒนาโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปวีนา ประไพนัยนา ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาฯ ผ่านทางเว็บไซต์ www.petromat.org หรือ โทร 0-2218-4141 ถึง 2, เฟสบุ๊ก petromat.coe