แบตเตอรี่สังกะสีไอออนเป็นอุปกรณ์กักเก็บและจ่ายพลังงานที่สามารถชาร์จซ้ำได้ ซึ่งมีข้อได้เปรียบตรงที่ผลิตจากสังกะสีเป็นหลัก ทำให้มีราคาถูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ค่อนข้างมีความปลอดภัย และสามารถนำไปรีไซเคิล แต่ขั้วไฟฟ้าด้านสังกะสีอาจเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรระหว่างการใช้งาน ทั้งนี้การเคลือบด้วยวัสดุอีกชนิดจะช่วยป้องกันขั้วไฟฟ้าและแก้ปัญหาดังกล่าวได้สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของขั้วไฟฟ้าก็คืออนุภาคสังกะสีอันมีโครงสร้างแบบกิ่งก้านที่เข้ามายึดเกาะในระหว่างการชาร์จไฟ ซึ่งส่งผลให้แบตเตอรี่ไม่สามารถกักเก็บพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งอนุภาคเหล่านั้นยังหลุดลอกออกได้ง่ายจึงทำให้ขั้วไฟฟ้าเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามการเคลือบด้วยวัสดุนำไฟฟ้าบางชนิดช่วยรักษาการทำงานของขั้วไฟฟ้า โดยวัสดุนั้นทำหน้าที่เสมือนเป็นเกราะให้พื้นผิวสังกะสี ตัวอย่างเช่น วัสดุประเภทพอลิเมอร์อย่างพอลิอะนิลีนและพอลิไพโรลที่บรรจุอนุภาคสังกะสีเข้าไปด้วย ส่วนกราฟีนออกไซด์นอกจากจะช่วยปกป้องขั้วสังกะสีแล้วยังช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวบริเวณนั้น จึงทำให้แบตเตอรี่ชาร์จไฟได้ดีขึ้น ทว่าการศึกษาผลของวัสดุที่ใช้ในการเคลือบต่อการทำงานของขั้วไฟฟ้ายังไม่เป็นที่แน่ชัด

ด้วยเหตุนี้ คุณนิชานต์ ยะดาฟ นักวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ พัฒนะนุวัฒน์ ภาควิชาวัสดุ-ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเตรียมขั้วไฟฟ้าร่วมกับวัสดุหลากหลายชนิดเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของขั้วไฟฟ้าสังกะสีแต่ละแบบให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยกำลังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าวิจัย ทั้งนี้การศึกษาในเรื่องดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบตเตอรี่สังกะสีไอออนที่ไทยเองก็มีทรัพยากรเพียบพร้อมในการผลิต

นอกจากนี้แล้วยังมีเทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงานที่เป็นทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย ท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th