เตรียมแมงกานีสไดออกไซด์ร่วมกับไนโตรเจนเจือคาร์บอน โดยสังเคราะห์ให้เป็นเส้นใยสานกันไปมาในระดับนาโนเมตร นำไปใช้เร่งปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า เสริมสมรรถนะใหม่ให้แบตเตอรี่ชนิดสังกะสี-อากาศ แบตเตอรี่ชนิดดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจ เพราะปลอดภัยกว่าแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนที่อาจระเบิดได้ อีกทั้งแบตเตอรี่ชนิดสังกะสี-อากาศยังให้ความหนาแน่นพลังงานสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ และน้ำหนักเบา อย่างไรก็ดีปฏิกิริยาที่ขั้วแคโทดหรือขั้วบวกเกิดขึ้นได้ช้า ทำให้ต้องมีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาร่วมด้วยนักวิจัยจึงได้เตรียมตัวเร่งจากแมงกานีสไดออกไซด์และคาร์บอนที่ถูกเจือด้วยธาตุไนโตรเจน โดยขึ้นรูปวัสดุด้วยวิธีอิเล็กโทรสปินนิงหรือการปั่นด้วยไฟฟ้าสถิต ให้ชิ้นงานมีลักษณะเป็นเส้นใยขนาดเล็กที่สานกันไปมาในระดับนาโนเมตร ซึ่งพบว่าสามารถเร่งปฏิกิริยาและนำกระแสไฟฟ้าได้ดี ทั้งนี้ เพราะคาดว่าโครงข่ายที่เชื่อมระหว่างเส้นใยคาร์บอน ช่วยให้อิเล็กตรอนเคลื่อนที่ต่อเนื่องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยเพิ่มสัมผัสรอยต่อระหว่างบริเวณตัวเร่งปฏิกิริยากับขั้วไฟฟ้า เมื่อนำไปใช้ก็จะทำให้แบตเตอรี่ชนิดสังกะสี-อากาศสามารถทำงานได้เต็มสมรรถนะยิ่งขึ้น

ผลงานโดย คุณเสาวลักษณ์ สุนทรกิจ ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.รจนา พรประเสริฐสุข ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th