แปรรูปชานอ้อยเป็นน้ำมันดิบชีวภาพ แปลงสภาพชีวมวลเป็นพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กำลังจะหมดไป ช่วยลดทั้งขยะอินทรีย์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ชานอ้อยไม่ใช่ขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรอีกต่อไป เพราะสามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการทางเคมีเชิงความร้อนที่เรียกว่า ไฮโดรเทอร์มัลลิควิแฟกชัน ซึ่งให้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบชีวภาพที่เป็นของเหลวจึงสามารถนำไปจัดการต่อง่าย โดยน้ำมันดิบที่ได้มีคุณภาพดีเพราะปะปนอยู่กับสารอื่นที่ไม่ต้องการ เช่น น้ำ กำมะถัน และออกซิเจนในปริมาณน้อย และชานอ้อยที่นำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงไม่ต้องผ่านกระบวนการทำแห้ง นั่นคือสามารถนำวัตถุดิบที่ยังเปียกชื้นอยู่ไปแปรรูปเป็นน้ำมันดิบได้เลยจึงทำให้ประหยัดต้นทุน นอกจากนี้ นักวิจัยยังปรับปรุงกระบวนการดังกล่าวโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ชาร์ ซึ่งก็คือถ่านชีวภาพที่ได้จากการแปรรูปชีวมวล โดยพบว่าร้อยละผลได้ในการผลิตน้ำมันดิบนี้มีมากขึ้น
งานนี้จึงช่วยขับเคลื่อนแนวทางในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นพลังงานทดแทน ทั้งยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะนำไปสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
ผลงานโดย คุณกัปตัน สมบูรณชนะชัย ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ คูชลธารา ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe