เมมเบรนซีโอไลต์สำหรับแยกก๊าซ ผลิตจากซิลิกาที่พบได้ในขี้เถ้าแกลบเหลือทิ้งจากท้องนา ใช้เพื่อแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซธรรมชาติและก๊าซชีวมวลให้ได้ก๊าซมีเทนบริสุทธิ์ ซึ่งช่วยรักษาค่าพลังงานความร้อนให้สูงและป้องกันปัญหาการสึกกร่อนของท่อก๊าซ จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเชื้อเพลิงทางเลือกไปใช้งานเมมเบรนผลิตจากวัสดุซีโอไลต์ซึ่งมีพื้นที่ผิวจำเพาะสูง
โดยนักวิจัยสังเคราะห์ให้บริเวณพื้นผิวของซีโอไลต์มีขนาดรูพรุนใกล้เคียงกับขนาดโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเล็กกว่าขนาดโมเลกุลของมีเทน ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถแพร่ผ่านและแยกออกไป นอกจากนี้ ซีโอไลต์ชนิดที่ใช้ยังปราศจากสารอะลูมินาซึ่งชอบจับกับโมเลกุลน้ำ ทำให้เมมเบรนสามารถใช้งานในสภาวะที่มีความชื้นได้อีกด้วยสิ่งหนึ่งที่สำคัญของงานวิจัยก็คือ ซีโอไลต์ดังกล่าวสังเคราะห์ขึ้นจากซิลิกาซึ่งพบมากในขี้เถ้าแกลบที่เหลือทิ้งจากการเกษตร จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในประเทศที่เราผลิตได้เองให้คุ้มค่า จากขยะในท้องไร่ท้องนาพัฒนาไปสู่วัสดุเมมเบรนขั้นสูงเพื่อใช้แยกก๊าซในอุตสาหกรรมด้านพลังงาน
ผลงานโดย คุณชนะพัชย์ ศรีธนาบดีรัตน์ ทีมวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัยพร สุริยประภาดิลก วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วยผู้ศาสตราจารย์ ดร.ทาเคชิ ฮาจิโอะ มหาวิทยาลัยนาโงยะ
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe