ศูนย์ฯ เปิดเวทีเสวนา ชวน ‘บีโอไอ’ ‘สมาคมพลาสติกชีวภาพฯ’ และ ‘โยโล’ ถกแนวทางยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จัดเสวนาในหัวข้อ “Powering Up Plastics Industry by Circular Economy” เพื่อนำเสนอแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญ ได้แก่ คุณสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุน 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) และคุณเกศทิพย์ หาญณรงค์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด โดยเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นในงาน InterPlas Thailand 2022 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุม MR 210 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

เมื่อเวลา 10.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้กล่าวเปิดงาน ต่อมาเป็นการเสวนาระหว่างวิทยากรทั้ง 3 ท่าน โดยคุณวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรมของศูนย์ฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเสวนาเริ่มโดยคุณสุทธิเกตติ์ ผู้เป็นตัวแทนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของภาคธุรกิจในประเทศ โดยปัจจุบันบีโอไอมีมาตรการสนับสนุนทางภาษีสำหรับธุรกิจลงทุนใหม่ และธุรกิจเดิมที่สามารถปรับปรุงกระบวนการในอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้แล้วบีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อชักจูงให้บริษัทใหญ่ช่วยเหลือชุมชุนในด้านการเกษตร ด้านการให้ความรู้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเบาของท้องถิ่น ฯลฯ อีกทั้งในอนาคตบีโอไอจะมีการมาตรการสนับสนุนในเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนโดยเฉพาะ เพราะแม้ว่ารายงานปี พ.ศ. 2562 – 2563 ระบุว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่ลดลงในการปล่อยคาร์บอน อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมของไทยปล่อยคาร์บอนรวมกันมากเป็นอันดับสอง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 29 % ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนรวมกันทั้งประเทศ

โดยสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกนั้นบีโอไอจะมีมาตรการสนับสนุนมากขึ้นทางภาษี ทั้งสำหรับธุรกิจการผลิตพลาสติกรีไซเคิลและธุรกิจพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลักดันการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศ รวมถึงช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจบีซีจี

ด้านคุณวิบูลย์ กล่าวว่าวิสัยทัศน์ของสมาคมฯ คือต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพในระดับอาเซียน โดยมีรายงานระบุว่าในปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลาสติกชีวภาพชนิด PLA เป็นอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS และ Thermoplastic Starch ซึ่งล้วนผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถปลูกหมุนเวียน เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง

ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ ตัวอย่างเช่น Zero-Waste Cup หรือแก้วกระดาษเคลือบพลาสติก BioPBS ที่สามารถย่อยสลายได้ 100 % โดยแก้วที่ใช้งานแล้วสามารถนำไปใช้เป็นภาชนะปลูกต้นไม้ ทั้งนี้เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯ สมาคมพลาสติกชีวภาพ และ Chula Zero Waste เพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแบบหมุนเวียนโดยมีการจัดการทรัพยากรแบบครบวงจร

ขณะที่คุณเกศทิพย์ ได้เล่าเกี่ยวกับที่มาและการทำธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกของบริษัทโยโล เริ่มจากที่ขยะพลาสติกในประเทศไทยมีมากถึงปีละ 2 ล้านตัน แต่มีการนำไปรีไซเคิลเพียงปีละ 5 แสนตันเท่านั้น

เมื่อปี พ.ศ. 2560 จึงเปิดรับขยะพลาสติกที่ไม่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิล โดยคุณเกศทิพย์เรียกว่าขยะพลาสติกกำพร้า โดยร่วมกับชุมชนในการนำขยะพลาสติกเหล่านี้มาแยกชนิด แล้วส่งขยะพลาสติกส่วนหนึ่งคืนให้กับโรงงานพลาสติกรีไซเคิล หรือส่งขยะพลาสติกให้กับภาคส่วนที่ต้องการนำไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ เช่น นำไปทำถนน นำไปเผา เป็นต้น

ขยะพลาสติกกำพร้าส่วนที่เหลือจากนั้นทางโยโลมีแนวคิดในการนำไปแปรรูปโดยใช้เครื่องบดและเครื่องหลอมขนาดเล็ก แล้วขึ้นรูปโดยใช้แม่พิมพ์ โดยทำงานร่วมกับนักออกแบบเพื่อนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ จานรองแก้ว กระถางต้นไม้ หวายเทียม ฟิลาเมนต์สำหรับการพิมพ์สามมิติ ฯลฯ

นอกจากนี้แล้วโยโลยังได้ร่วมกับแบรนด์ Pipatchara ในการนำชิ้นส่วนพลาสติกรีไซเคิลไปออกแบบเป็นกระเป๋า ซึ่งมีราคาขายอยู่ในหลักหมื่นบาทต่อใบ อีกทั้งได้รับการนำไปจัดแสดงหลายที่รวมทั้งในต่างประเทศ โดยโยโลมีความร่วมมือกับศูนย์ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ในโครงการมาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับ SMEs ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการร่วมกันพัฒนารูปแบบธุรกิจการนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในอนาคตอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากภาครัฐ ทั้งธุรกิจพลาสติกรีไซเคิลและธุรกิจพลาสติกชีวภาพ โดยภาคเอกชนและภาคการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th