ศูนย์ฯ เทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมประชุมขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศสู่ระบบนิเวศการวิจัยใหม่

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์ความเป็นเลิศในระบบนิเวศการวิจัยใหม่ของไทย” ณ โรงแรมพาโค่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม ที่ผ่านมา

การประชุมนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (CoE) กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งหมดกว่า 165 คน พร้อมด้วยผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารและผู้แทนผู้บริหารของสถาบันในสังกัดศูนย์ฯ เทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ

พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการ กปว. เป็นประธานเปิดการประชุมและนำเสนอวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์ความเป็นเลิศในระบบนิเวศการวิจัยใหม่ของไทย” เน้นย้ำแนวทางในการปรับโครงสร้างศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อให้สามารถดำเนินงานและจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประชุมยังมีการบรรยาย เสวนา และการอภิปราย เกี่ยวกับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริม ววน. แนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของ บพข. และแนวทางการเชื่อมพันธกิจของศูนย์ความเป็นเลิศกับกลุ่มงานภายใต้ กปว. โดยวิทยากรระดับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ของหน่วยงานภายใต้ สปอว.

ส่วนการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทั้งหมด 11 ศูนย์ ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ได้นำการระดมความคิดเห็นกันภายในศูนย์ฯ เทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และรายงานผลการหารือแก่ที่ประชุมร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านอื่นๆ

โดยศูนย์ฯ เทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ได้นำเสนอจุดแข็งในการเป็นศูนย์กลางอันมีเครือข่ายในมหาวิทยาลัยเจ็ดแห่งทั่วประเทศ เชี่ยวชาญในการบ่มเพาะกำลังคนและพัฒนางานวิจัยตั้งแต่ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ตลอดจนด้านวัสดุขั้นสูง รวมทั้งด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานสะอาด วัสดุยั่งยืน ฯลฯ อีกทั้งมีจุดแข็งในการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมของไทยและในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถผลักดันความร่วมมือระหว่างอาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อลงทุนด้านงบประมาณและกำลังคนในการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน

นอกจากนี้ คณะทำงานของศูนย์ฯ เทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ทำงานกันอย่างมืออาชีพ ทำให้โครงการวิจัยต่างๆ ดำเนินงานเสร็จสิ้นได้อย่างเดียวเร็ว ปัจจุบันยังทำโครงการวิจัยในหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ด้านของเสียเพื่อไปสู่ Zero Waste และด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เพื่อไปสู่ Net Zero

ทั้งนี้ ทิศทางการทำงานของศูนย์ฯ เทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จึงตอบโจทย์การขับเคลื่อนงานวิจัยทั้งในระดับยุทธศาสตร์ของประเทศ และพร้อมยกระดับสู่การเป็นศูนย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมีและวัสดุในระดับนานาชาติ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th