ศูนย์ฯ ลงพื้นที่เกาะสมุย จับมือ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ ลุยต่อโครงการสร้างต้นแบบชุมชน ‘ซีโร่ฟู้ดเวสท์’

ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ พร้อมด้วยคุณวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม และ ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย ผู้ประสานงานอุตสาหกรรม ของศูนย์ฯ ได้เดินทางไปยังอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการดำเนินโครงการวิจัยเรื่องการบริหารจัดการขยะอาหารเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเกาะสมุยและเป็นชุมชนต้นแบบด้านความมั่นคงด้านอาหาร

วันแรกทีมของศูนย์ฯ นำโดย ศ.ดร.หทัยกานต์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ได้หารือกับคณะผู้วิจัย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจัดขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัยให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมชั้น 2 วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

การประชุมนี้ได้รับเกียรติจากนางสาวสุภิญญา ศรีทองกุล รองนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย นั่งเป็นประธาน โดย ดร.จันทร์พร ช่วงโชติ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ ผู้ร่วมโครงการวิจัยฯ ได้เป็นผู้ดำเนินการประชุม และมีคณะผู้สังเกตการณ์จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) ในฐานะผู้ให้ทุนโครงการวิจัยนี้ เข้าร่วมประชุมด้วยทางออนไลน์

โครงการวิจัยนี้เกิดขึ้นด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาขยะบนเกาะสมุย โดยเฉพาะขยะเปียกรวมทั้งขยะอาหาร ซึ่งพบมากถึงวันละ 150 ตัน โดยกว่าร้อยละ 70 นั้นเกิดจากภาคการท่องเที่ยว โดยศูนย์ฯ ได้ร่วมมือกับ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ เพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งชุมชนและสถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงเรียนและโรงแรม เพื่อให้ความรู้แก่หน่วยงานต่างๆ นั้น ในเรื่องการลดขยะและการจัดการขยะอาหาร

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ได้ติดตั้งเครื่องย่อยเศษขยะอาหาร (Bio-digester) และเตาเผาถ่านกะลามะพร้าว เพื่อพัฒนาแนวทางในการนำขยะอาหารนั้นกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังได้ผลผลิตเป็นสารตั้งต้นสำหรับเตรียมสารปรับปรุงดินและน้ำหมักชีวภาพ รวมถึงถ่านไร้ควัน

ทั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการลดปัญหาขยะบนเกาะสมุยโดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนพัฒนาต้นแบบชุมชนที่มีขยะอาหารเป็นศูนย์ โดยในช่วงท้ายของการประชุมมีการตอบข้อซักถามและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมประชุม ซึ่งรวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ และยังมีการพาเยี่ยมชมเครื่องย่อยเศษขยะอาหารและเตาเผาถ่านกะลามะพร้าว ที่สามารถใช้งานจริงได้แล้ว

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th