
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ พร้อมด้วยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย ได้นำคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน เข้าพบคณาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการวิจัยและแนวทางในการสร้างความร่วมมือ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการเยี่ยมเยียนของคณะนักวิจัยจาก ม.อเบอร์ดีน ผู้ร่วมโครงการ “Integral Process Optimization for Sustainable Offshore-structure Dismantling Yard Operation” ซึ่งศูนย์ฯ และ ศสอ. ได้รับงบประมาณกองทุนนิวตันจาก The Royal Academy of Engineering แห่งสหราชอาณาจักร
การเข้าพบดังกล่าวสำเร็จเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 โดยคณะนักวิจัยฯ ได้รับการต้อนรับจากผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน นำโดยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมฯ และรองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ เรียบร้อยเจริญ หัวหน้าภาควิชาเคมีเทคนิค จากนั้นมีการนำเสนองานวิจัยในด้านการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม ด้านพลังงานไฮโดรเจน และด้านเทคโนโลยีเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงมีการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต่างๆ และมีการหารือถึงความร่วมมือระหว่างแต่ละฝ่าย
